ทปอ.ยืนยันแอดมิชชันกลางปี 54 ยังใช้ระบบเดิม รับตรงในสถาบันอุดมศึกษา ปี 55 สอบเพิ่มอีก 7 วิชา เสนอ 3 แนวทางแก้ไขปัญหาซื้อ-ขาย ป.บัณฑิต
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังการประชุม และสรุปผลการรับสมัครแอดมิชชัน ว่า ที่ประชุม ทปอ.ได้ทำการพิจารณาแนวทางการดำเนินการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปัจจุบันด้วยระบบแอดมิชชันกลาง ว่า จะยังคงใช้ระบบเดิมที่ใช้ในปี 2553, 2554, และ 2555 ยืนยันว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ถ้าหากจะเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งบอกล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี จึงขอให้นักเรียนและผู้ปกครองสบายใจได้
สำหรับการรับตรงในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทาง ทปอ.สรุปว่า จะสอบเพิ่มอีก 7 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ที่จะจัดสอบในช่วงต้นเดือนมกราคม 2555 ทั้งนี้ ให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดูแล และจะใช้เวลาในการประมวลผลสอบไม่เกิน 3 สัปดาห์ คาดว่า ไม่เกินวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 นักเรียนจะสามารถทราบผลได้ ซึ่งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2554 จะมีผลสอบ 2 ชุด คือ คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (GAT, PAT) ที่สอบในเดือนตุลาคม 2554 และผลการสอบตรง ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐ และเอกชนที่รับนักศึกษาปริญญาตรีสามารถนำผลการสอบทั้ง 2 ครั้งไปใช้คัดเลือกในหลักสูตรต่างๆ ได้
ศ.ดร.ประสาท กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ.หารือเรื่องการซื้อขายประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ว่า ที่ประชุมได้ให้แนวทางการแก้ปัญหาไว้ 3 ทาง คือ 1.ถ้าเด็กซื้อขายแล้ว พบว่า เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วม ทางอธิการบดีผู้ที่ดูแลต้องทำการฟ้องร้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ทำผิด 2.หากเกิดจากผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย แต่เป็นบุคคลภายนอกทำการปลอมแปลงทางมหาวิทยาลัยสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดได้ทันที และ 3.ได้แจ้งไปยังประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้ง 9 แห่ง ว่า หากมหาวิทยาลัยไหนขาดแคลนบุคลากรขอให้แจ้งมาเพื่อจะส่งบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือ
“ปัญหาเรื่องการซื้อขายวุฒิ จุดที่ผิดปกติก็คืออาจารย์บางมหาวิทยาลัยมีชื่อสอน 2 ห้อง ในเวลาเดียวกัน ทำให้มีบุคลากรตัวปลอมเกิดขึ้นจึงขอให้ทางมหาวิทยาลัยที่ขาดแคลนแจ้งมายังเครือข่ายเพื่อแก้ไขลดปัญหาการปลอมแปลง หรือนำบุคลากรสวมรอยในการสอน เพื่อให้การเรียนในระดับอุดมศึกษามีคุณภาพ” ศ.ดร.ประสาท กล่าว