xs
xsm
sm
md
lg

“สามประสบโมเดล” พลิกชีวิตเด็กด้อยโอกาส ของ “ประยูร สุธาบูรณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

นับแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้ทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็น “วันครู” จนถึงปี 2555 นี้ นับเป็นปีที่ 56 แล้ว ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานวันครูขึ้น และทุกๆ ปีจะมีการคัดเลือกครูที่มีความสามารถ ทำคุณประโยชน์เพื่อการศึกษาและนักเรียนเข้ารับรางวัลจำนวนมาก
 ผอ.ประยูร สุธาบูรณ์
สำหรับ “วันครู” 16 มกราคม ปีนี้ นายประยูร สุธาบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ผู้ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 4 ของผู้ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” หรือรางวัล “ครูจูหลิง” ในโครงการตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู ครั้งที่ 6 ประจำปี 2555

ผอ.โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา บอกถึงความรู้สึก ว่า ได้รับรางวัลนี้ผมรู้สึกภาคภูมิใจ เป็นรางวัลอันทรงเกียรติอย่างยิ่งอีกรางวัลหนึ่งที่ได้รับตลอดการทำงานเป็นข้าราชการครูมา 33 ปี จะเป็นเสมือนอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญในการมุ่งมั่นทำหน้าที่ต่อไป การทำงานที่ผ่านมา ผมยึดประโยชน์นักเรียน และชุมชน เป็นหลัก เพื่อสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางการศึกษาให้เด็กๆ ในถิ่นทุรกันดาร ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวและสังคม

กว่าจะมาเป็นหนึ่งใน “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ในครั้งนี้นั้น นายประยูร สะท้อนภาพการทำงานให้ฟังว่า “โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา นั้นเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และติดชายแดน อยู่ห่างจากตัวเมือง 220 กิโลเมตร การเดินทางต้องลัดเลาะไปตามไหล่เขา ดังนั้น การทำงานที่ผ่านมาของผม และครูทุกคนได้พบเจอ คือ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของนักเรียน เพราะนักเรียนของโรงเรียนมีทั้งเป็นกลุ่มชาวไทยพื้นเมือง ลาว มอญ พม่า จีน แขก ชายไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาในพื้นที่นี้จึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ และต้องจัดการศึกษาที่เหมาะสม
ภาพเด็ก ๆ ที่มาเรียนที่โรงเรียนแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า
อีกทั้งชุมชนส่วนใหญ่ทำไร่ รับจ้างหาของป่า มีฐานะยากจน ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการหาเลี้ยงชีพมากกว่าการส่งเสริมให้บุตรหลานได้รับการศึกษา ทำให้มีปัญหานักเรียนออกกลางคัน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและทำให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ผมและครูจึงช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาว่าในพื้นที่แห่งนี้มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรบ้าง และจะหาวิธีใดเพื่อจัดการศึกษาให้เด็ก ๆ ทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในที่สุดทางโรงเรียนก็ได้พัฒนา นวัตกรรมทางการศึกษาขึ้น เรียกว่า สามประสบโมเดล”

คงสงสัยว่า “สามประสบโมเดล” (SAMPRASOP MODEL) คืออะไร ? ผอ.โรงเรียนอุดมสิทธิฯ ขยายความว่า สามประสบโมเดล เป็นแผนแม่บทในการทำงาน ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมแนวคิดในการปฏิบัติงานด้านบริหารการศึกษาต่างๆ อาทิ ระบบโรงเรียน กระบวนการทำงาน ตลอดจนวิถีชีวิตชุมชน อันได้แก่ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี นำมาเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็น รูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนที่ สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมชุมชน หรือที่เรียกว่า ASROVN ซึ่งก็จะมีขบวนการทำงานต่างๆ ในแต่ละขั้นตอนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 Awareness การสร้างความตระหนักให้ครู ชุมชน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาในเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร ขั้นตอนที่ 2 Survey สำรวจประชากรวัยเรียนในพื้นที่เขตบริการของโรงเรียนเพื่อรวบรวม ข้อมูลสารสนเทศ ในการสร้างโอกาสทางการศึกษา ขั้นตอนที่ 3 Road map แผนที่นำทางแผนงาน พัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน ขั้นตอนที่ 4 Observation การเฝ้าระวังติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของโรงเรียน ให้บรรลุตามเป้าหมาย ขั้นตอนที่ 5 Valuate การเพิ่มค่า การปรับปรุงการทำงาน และ ขั้นตอนที่ 6 Network ภาคีเครือข่ายสร้างความยั่งยืนในการจัดการศึกษาร่วมกันบนฐานวัฒนธรรมชุมชน เพราะฉะนั้น กระบวนการการจัดการเรียนการสอน ให้ความรู้ หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรม จริยธรรมที่ทำในโรงเรียนนั้น ครูก็จะนำรูปแบบเหล่านี้ไปจับซึ่งช่วยให้เราสามารถอุดรอยรั่วช่องว่างวัฒนธรรมและหลักสูตรการเรียนรู้ได้

นายประยูร บอกด้วยว่า สามประสบโมเดล นี้ ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2551 ที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ก็พบว่า ช่วยให้การเรียนการสอนของครูมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนก็ดีขึ้น ปัญหาเด็กออกกลางคันก็ลดน้อยลง และที่น่ายินดี คือ โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่น และชุมชนในการพัฒนาการศึกษา จนเด็กๆ หลายคนซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเขาได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่น

ที่สำคัญ “สามประสบโมเดล” หรือในชื่อผลงาน “นวัตกรรมบริหารจัดการรูปแบบสามประสบเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส” ของโรงเรียนสิทธิอุดมศึกษา นั้นได้รับรางวัลหนึ่งโรงเรียนหนึ่ง นวัตกรรม ระดับเหรียญทอง ในด้านการบริหารและการจัดการสถานศึกษา จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาด้วย”

แม้จะได้รางวัลการันตรีคุณภาพนวัตกรรม แต่ผอ.โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา ยังมีการแผนการสำหรับอนาคตของโรงเรียนสิทธิอุดมศึกษา โดยเตรียมการทำ “อุดมสิทธิศึกษาเน็ตเวิร์กโมเดล” โดยจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน โดยจะสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเพื่อให้นักเรียนได้ใช้เรียน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครูด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น