ประธานสภา นร.ยื่นข้อเสนอให้ “ยิ่งลักษณ์” เน้น 3 ประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเตรียมพร้อมสู่อาเซียน
เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายทศพร ไล้ทิม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนธรรมโชติศึกษาลัย จ.สุพรรณบุรี ในฐานะประธานสภานักเรียน ประจำปี 2555 นำสภานักเรียนจำนวน 94 คน เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย นายทศพร เป็นตัวแทนสภานักเรียน มอบซีดี และเอกสารข้อเสนอสภานักเรียน ประจำปี 2555 ให้กับนายกรัฐมนตรีด้วย
ทั้งนี้ นายทศพร กล่าวภายหลังว่า จากการดำเนินงานของสภานักเรียน ประจำปี 2555 สามารถสรุปประเด็นปัญหาและแนวคิด แนวทางแก้ไขของสภานักเรียน เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของเด็กในชนบทห่างไกล เช่น ปัญหานักเรียนขาดทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เด็กในชนบทไม่มีโอกาสในการกวดวิชา เนื่องจากความยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนในชนบทไม่มีอาคารเรียนหากมีก็ทรุดโทรม เด็กในชนบทขาดแหล่งเรียนรู้และสถาบันการศึกษาจึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเรียนรู้และการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นต้น โดยแนวทางที่แก้ไขปัญหานั้น ได้แก่ ควรเพิ่มวงเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และขยายให้ครอบคลุมให้เด็กยากจนมีโอกาสมากขึ้น, ตั้งงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุกรกันดารและจัดสรรสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยในสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันให้ครอบครัวของเด็กพิเศษและเด็กพิการ, ส่งเสริมให้มีการกวดวิชาให้กับเด็กในท้องถิ่นทุรกันดารและเด็กยากจนให้เทียบเท่าเด็กในเมืองและเด็กฐานะดี, สร้างโอกาสหรือเพิ่มเติมการติวให้กับนักเรียนในชนบทห่างไกลให้เท่าทันกับเด็กในเมือง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษที่บกพร่องทางการเรียนรู้ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้วหรือเปิดมหาวิทยาลัยรองรับ
2.ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทางสภานักเรียนต้องการให้รัฐบาลได้กรุณานำกฎหมายมาบังคับใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามาทำงานร่วมกับสภานักเรียนในการป้องกันปัญหา เช่น การดำเนินการตามกฎหมายที่เป็นบทลงโทษกับผู้กระทำการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนการรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนให้มีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์สัตว์ป่าทุกชนิด
3.การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนควรส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนชนบทห่างไกลทุรกันดารมากขึ้น ควรส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันให้เป็นไปตามธรรมชาติตามลำดับ คือ การฟัง พูด อ่าน เขียนและให้เรียนไวยากรณ์ภายหลัง ให้เด็กเร่ร่อน เด็กไร้สัญชาติ เด็กที่มีความบกพร่องได้รับโอกาสในการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ส่งเสริมให้โอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประเทศสมาชิกอาเซียนให้แก่เด็กๆ และเยาวชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปลูกฝังนำความรู้เข้าไปสู่ความศรัทธา มีการพัฒนาให้เท่าเทียมนานาอารยประเทศอย่างบูรณาการด้วยกระบวนการค่าย อาจจะเป็น DAY CAMP หรือค่ายค้างคืนเดือนละ 1 ครั้ง