xs
xsm
sm
md
lg

เด็กด้อยโอกาส ยิ้มกว้าง ได้ศึกษาผ่านไอซีที เป็นของขวัญปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผนึกกำลัง “กระทรวงไอซีที-สสค.-สวทช.-สกว.” ประกาศ 4 มาตรการ มอบของขวัญแด่เด็กด้อยโอกาส ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมตั้งคณะกรรมการ “ คทส.” ขยายผลการทำงานร่วมกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้มีการแถลงข่าว “มอบของขวัญปีใหม่ ด้วยการใช้ไอซีทีแก่เด็กด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) โดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคมถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด จากข้อมูลของสสค.ชี้ว่ายังมีเด็กไทยกว่า 5 ล้านคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาและสังคม โดยเด็กกว่า 2 ล้านคนออกจากระบบการศึกษาก่อนจบม.3 เพราะความยากจน และอีกนับล้านคนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ กลายเป็นปัญหาสังคมและความสูญเสียกำลังคนของท้องถิ่น

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ของขวัญปีใหม่ด้วยการใช้ไอซีทีแก่เด็กด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน จึงประกอบด้วย 1. การพัฒนาศูนย์ ICT ชุมชน ซึ่งมีจำนวน 1,600 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็น Tele-Training Centers เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ชุมชนและครอบครัวเกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือและส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กพิการกลุ่มต่างๆ เช่น เด็กพิการทางร่างกาย เด็กพิการทางการได้ยิน เด็กพิการซ้ำซ้อน เป็นต้น รวมทั้งสามารถใช้ขยายผลเครื่องมือและสื่อ digital สำหรับเด็กพิการ เช่น หนังสือเสียง (talking book) สำหรับเด็กพิการทางสายตาที่สวทช.ได้ดำเนินการไว้แล้วจนประสบความสำเร็จ 2. การใช้ไอซีทีเพื่อเผยแพร่ชุดความรู้ผ่านโครงการคลังความรู้แห่งชาติ (Thailand Knowledge Center) โดยสนับสนุนการเผยแพร่ชุดความรู้ของสกว.ที่เตรียมจัดทำชุดความรู้ที่สำคัญคือ การพัฒนาเด็กช่วงวัยต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมักเป็นพื้นที่กระจุกตัวของกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

3. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ผ่านโครงการนำร่องการจัดการดูแลเด็กด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ที่มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน ในพื้นที่ 15 จังหวัดนำร่องที่สสค.ดำเนินงาน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนต่อและมีงานทำ รวมถึงการนำปัจจัยพื้นฐานด้าน ICT เข้าไปเสริมการทำงานของครูดีในท้องถิ่น กว่า 20,000 คน โดยเฉพาะกลุ่มครูผู้เสียสละเกือบ 600 คน ที่สอนและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ที่สสค.ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น 8,000 แห่งทั่วประเทศร่วมกันคัดเลือก ซึ่งการนำปัจจัยพื้นฐานด้านICT เข้าไปเสริมการทำงานของครูผู้เสียสละเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อชีวิตการเรียนรู้ของเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆโดยตรง

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของความร่วมมือกันในครั้งนี้คือการสร้างความสามารถในการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปยังพื้นที่ทุรกันดารหรือพื้นที่เป้าหมายที่มีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก และเป็นเครื่องมือในการขยายผลต้นแบบการทำงานช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆในพื้นที่นำร่อง รวมถึงการพัฒนาให้เกิดระบบข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการของหน่วยงานในพื้นที่ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือดูแลเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการเชิงพื้นที่ในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงาน จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานร่วมกันคือ คณะกรรมการบริหารและกำกับทิศทางความร่วมมือทางวิชาการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเรียกว่า “คทส.” เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันต่อไป

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. กล่าวว่า จากการสำรวจของสถาบันรามจิตติ พบว่า มีจำนวนกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางสังคม โดยหลุดออกจากระบบการศึกษาและเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ประมาณ 5 ล้านคน เช่น เด็กเร่ร่อนกว่า 30,000 คน เด็กยากจนพิเศษ กว่า 2.97 ล้านคน เด็กในถิ่นทุรกันดาร 160,000 คน ที่น่าสนใจคือจำนวนเด็กออทิสติก เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้และเด็กสมาธิสั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1.7 ล้านคน หรือเกือบ 15% ของจำนวนประชากรนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

น.พ.สุภกร กล่าวว่า ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นตัวอย่างการช่วยเหลือดูแลเด็กที่ขาดโอกาสทางสังคมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีหน่วยงานหลายหน่วยงานร่วมกันทำงาน เช่น Korea Agency for Digital Opportunity & Promotion หรือ KADO รับผิดชอบในการกระจายโอกาส ทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปยังพื้นที่ห่างไกลและผู้พิการ รวมถึงการอบรมความรู้การใช้คอมพิวเตอร์ให้กับผู้สูงอายุ และคนด้อยโอกาส และมีหน่วยงานที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาในรูปแบบของ E-learning เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา รวมถึงการวางเป็นยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาประเทศด้วยการจัดทำแผนแม่บทระยะยาวเพื่อวางระบบโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามองค์กร โรงเรียน และพื้นที่ในชนบทห่างไกลโดยหน่วยงาน Nation Information Social Agency หรือ NIA จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ส่วนหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น