ศูนย์ข่าวภูเก็ต -สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาทางวิชาการ “มัธยมศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน” เชิญผู้บริหารสถานศึกษากว่า 2,000 คน เข้าร่วม รัฐมนตรีช่วยศึกษาเน้นผู้บริหารดึงความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนานักเรียนในสถาบันให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำปัญหาในสถานศึกษาที่น่าห่วงในขณะนี้คือปัญหาเรื่องยาเสพติด
วันนี้ (8 ก.พ.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการและประชุมสัมมนาวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำ 2554 “มัธยมศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย จัดขึ้น โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน นอกจากนี้ยังมีนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ และ นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นเกียรติด้วย
พร้อมเป็นประธานมอบโล่แก่คณะกรรมการบริหารสมาคม 40 คน ผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนกิจการของสมาคม จำนวน 2 คน ผู้บริหารที่ได้รับการคัดสรรเป็นผู้บริหารดีเด่น ประจำปี 2554 จำนวน 4 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 182 คน และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 70 คน
นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยจัดให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อตรียมการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน และชาวมัธยมศึกษามีความคาดหวังว่าการศึกษาของไทยจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาคมอาเซียน ตามนโยบายรัฐบาล และนำการศึกษาไทยทัดเทียมกับอารยประเทศ
ขณะที่ นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผู้บริหารสถานศึกษานั้นถือว่าเป็นผู้ที่มีความพิเศษอยู่แล้ว ดังนั้น จะต้องดึงความพิเศษที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรและนักเรียนในสถาบันการศึกษานั้นๆ เพื่อให้สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับในปี 2558 เราก็จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน และต้องมองไปถึงอนาคตด้วย โดยเฉพาะระบบการศึกษาของเพื่อนบ้าน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาของไทยเรา เพราะจะบอกว่าเพื่อให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศนั้นคงไม่เพียงพอ แต่ควรจะต้องเหนือกว่าอารยประเทศ
“นโยบายรัฐบาลในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประกอบด้วย การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เร่งนำสันติสุข และความปลอดภัยสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ และจัดหาคอมพิวเตอร์ นโยบายด้านการศึกษา ประกอบด้วย เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษา ปฎิรูปครู ยกฐานะให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งจัดการศึกษาอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสาสนเทศเพื่อการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน”
นายศักดา กล่าวด้วยว่า ตนพร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ พร้อมรับฟังความคิดเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์กับวงการการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการและขับเคลื่อนต่อไป นอกจากในการพัฒนาการศึกษาจะต้องมองเรื่องการพัฒนาอาชีพด้วย เพราะในอนาคตจะมุ่งไปสู่เรื่องอุตสาหกรรม หรือการเงินการบัญชี หรือท่องเที่ยว อย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ได้ แต่ต้องมองการพัฒนาสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับพืชอาหารและพลังงานด้วย
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยทรงมีพระราชดำรัส ว่า อีกประมาณ 40 ปี ข้างหน้าพลังงานน้ำมันเชื่อเพลิงจะหมดไป ดังนั้น ประเทศไทยเราซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องของสภาพอากาศ ซึ่งเหมาะกับการทำเกษตร ดังนั้น เราจะใช้ความได้เปรียบดังกล่าวมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างไรได้บ้าง จำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะต้องเริ่มจากหลักสูตรในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่จะต้องกำหนดเพื่อรองรับสายอาชีพด้วย
ประกอบกับเมื่อเราต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแข่งขันต่างๆ ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เรื่องภาษาก็นับว่าสำคัญ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ หากเราไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เราก็จะด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ซึ่งไม่เฉพาะการพัฒนาเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงครูและบุคลากรการศึกษาที่เกี่ยวข้องด้วย โดยจัดคอร์สอบรมให้เป็นระยะๆ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการส่งบุคลากรเข้ามาช่วยเชื่อมต่อไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
นายศักดา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันปัญหาที่น่าห่วง คือ ยาเสพติดในสถานศึกษา ซึ่งหากจะไปตรวจทั้งหมดคงไม่ได้ แต่อาจจะใช้วิธีเข้าไปตรวจสอบในห้องสุขาของสถานบันการศึกษา หากพบมีความผิดปกติก็ให้สุ่มตรวจในแต่ละสถานศึกษาไป ซึ่งในเรื่องนี้คงทำฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง