xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายเรียนฟรีไม่ฟรีจริง คุณภาพแย่กว่า10ปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ตรวจฯ เผยผลวิจัยนโยบายเรียนฟรี 15 ปีไม่ฟรี ไม่ดีจริง ด้อยคุณภาพ แถมขัดรัฐธรรมนูญ "ศรีราชา" ชี้คุณภาพการศึกษาไทยแย่กว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คุณภาพนักเรียนด้อยลงในทุกวิชาเรียน แนะ รื้อระบบ-จัดหลักสูตรใหม่-ปล่อยร.ร.จัดการศึกษาตามกลไกตลาด -แก้รธน.ให้เหลือจัดเรียนฟรีไม่น้อยกว่า 9 ปี

วานนี้ ( 16 ก.พ.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมอภิปรายในผลการวิจัย เรื่อง "นโยบายเรียนดี เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ" ที่ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มอบหมายให้ นาวาตรีหญิง ดร.กิตติยา เอ็ฟฟานส นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ดำเนินการวิจัย โดยระบุว่า การวิจัยใช้วิธีการผสมผสาน ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ พบว่านโยบายดังกล่าว "ไม่ฟรีจริง เรียนไม่ดี และด้อยคุณภาพ " โดยกระทรวงศึกษาฯ ได้ใช้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของรร.ขนาดกลาง มาจ่ายให้กับรร.ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งไม่ตรงกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ผู้ปกครองมีความเข้าใจว่า เรียนฟรี หมายถึง ฟรีทุกรายการ ในขณะที่รัฐบาลนิยามการเรียนฟรี เพียง 5 รายการ คือ ชุดเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียนแปดกลุ่มสาระ อุปกรณ์การเรียน กิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน และ เงินค่าเล่าเรียน แต่ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่รร.เรียกเก็บเพิ่ม เช่น ค่าแอร์ ค่าเรียนเสริมคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งฝ่ายครู และผู้ปกครองเห็นว่า นโยบายนี้ไม่ทำให้เด็กเรียนดีขึ้น และไม่ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจริง เพราะยังต้องจ่ายเพิ่มตามรายการที่ รร.ขอรับการสนับสนุนอีก

ส่วนผลการประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. พบว่า คะแนนวิชาหลักของนักเรียนทั้ง 3 ช่วงชั้น มีแนวโน้มลดลงอย่างเป็นระบบ อีกทั้งคะแนนของนักเรียนทั้ง 3 ช่วงชั้นและทุกวิชา มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่ง และจากการประเมินรอบ 2 ของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพผู้เรียนในภาพรวม มีแนวโน้มลดลง คะแนนจากโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ ( พีไอโอสเอ ) พบว่า ช่วง 3 ปีก่อนประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คะแนนของทั้ง 3 วิชา มีแนวโน้มลดลง และเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ในการทดสอบครั้งสุดท้าย

ขณะที่ผลการจัดอันดับด้านการศึกษา จากสถาบันไอเอ็มดี พบว่าคุณภาพผู้เรียนไม่ดีขึ้น มีแนวโน้มลดต่ำลงหลังจากที่ใช้นโยบายนี้ มีเพียงผลการประเมินจากกระทรวงศึกษาธิการของไทยเท่านั้น ที่ชี้ว่าผู้เรียนมีคุณภาพที่ดีขึ้น 7 ใน 8 กลุ่มสาระวิชา งบประมาณที่ช่วยเรื่องอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ และหนังสือเรียน ไม่ได้ทำให้เรียนดีขึ้น

นายศรีราชา กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว ได้สะท้อนว่าหลังการปฏิรูปการศึกษา ที่มีการใช้ระบบทดสอบทางการศึกษาแล้วพบว่า การศึกษาไทย แย่ลงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งจัดการศึกษาเรียนฟรีให้กับคนที่ไม่ต้องการขณะเดียวกัน ก็ไม่ไปเติมเต็มให้กับคนที่ยากจน หรือต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น จึงเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรจะทบทวนระบบการศึกษาทั้งระบบ ก่อนที่ระบบดังกล่าวจะนำเด็กไปสู่ความล้มเหลวในการเรียนและนำประเทศไปสู่วิกฤต

โดยเห็นว่าแนวทางการแก้ไจปัญหา ควรมีการปล่อยให้โรงเรียนจัดการศึกษาเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยโรงเรียนใดมีความสามารถในการจัดการศึกษา ก็ปล่อยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับกระทรวงศึกษาฯ จัดระบบการศึกษาของแต่ละโรงเรียนไม่ให้มีความใกล้เคียงกัน มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเน้นให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ มากกว่ามุ่งเน้นให้เด็กเรียนเพื่อจดจำ และนำไปสอบ

**แก้รธน.เรียนฟรีไม่น้อยกว่า 9 ปี

นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่บัญญัติว่า รัฐต้องจัดการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพราะการปฏิบัติจริงในขณะนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขถ้อยคำเป็นรัฐต้องจัดให้มีการเรียนอย่างทั่วถึง ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่น้อยกว่า 9 ปี ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างว่าในกรณีที่มีความพร้อมเรื่องงบประมาณ หากมีจำนวนมาก ก็สามารถจัดได้เกินกว่า 9 ปีขึ้นไป

" ถึงเวลาแล้ว ที่สภาการศึกษา และรมว.ศึกษาธิการ ต้องทบทวนระบบการบริหาร และหลักสูตร ที่ให้มีการเรียนมาก และน้อยไปในบางเรื่อง ซึ่งการได้พูดคุยส่วนตัวกับ รมว.ศึกษาฯ ก็มีหลายเรื่องที่มีความเห็นตรงกัน เช่น การปรับปรุงหลักสูตร เรื่องการสอบที่จะเป็นมาตรฐาน เรื่องการใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เป็นตัวตัดสินในการเลื่อนขั้นเงินเดือนของครู แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้การพัฒนาความต่อเนื่องของระบบการศึกษามีปัญหา เพราะเมื่อเปลี่ยนรมว.ครั้งหนึ่ง นโยบายทางการศึกษาจ ก็จะเปลี่ยนไป" นายศรีราชา กล่าว และว่า หลังจากนี้ ก็จะมีการเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวไปให้รมว.ศึกษธิการ และ เผยแพร่ต่อสาธารณะชนต่อไป

** จวกเละระบบเด็กฝาก

วันเดียวกัน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีแนวนโยบายเกี่ยวกับการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยจะเปิดห้องรับเด็กฝากโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากเงินแป๊ะเจี๊ยะ เป็นเงินบริจาค เนื่องจากเห็นว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่บัญญัติบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ ความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม รวมทั้งการศึกษาอบรม โดยหากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่า ผิดรัฐธรรมนูญนั้น นโยบายดังกล่าวนี้จะต้องหยุดดำเนินการทันที อีกทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ ยังประกาศชัดเจนว่า จะเปลี่ยนที่นั่งเรียนของนักเรียนเป็นเงิน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ( กสม. ) ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ และในสัปดาห์หน้า ตนจะยื่นฟ้องศาลปกครองอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น