xs
xsm
sm
md
lg

แฉนายจ้างอิสราเอลบังคับแรงงานไทยเซ็นมอบเงินภาษี ขู่ไม่เซ็นไม่ได้กลับไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานร้อง “เผดิมชัย” ถูกนายจ้างอิสราเอลบังคับเซ็นมอบเงินภาษีรายได้ 10-15% เฉลี่ยคนละกว่า 8 หมื่น-2 แสนบาท ในช่วง 2-5 ปี ขู่ไม่เซ็นไม่ได้เงินเดือน ไม่ได้กลับไทย รมว.แรงงาน สั่ง กกจ.เจรจารัฐบาลอิสราเอล เคลียร์ สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ ชี้ ระงับส่งแรงงานไปอิสราเอลไม่กระทบ ระบุ ส่วนแบ่งตลาดแค่ 5% ด้าน “สุเมธ” ปิดปากเงียบ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า จากการได้พบปะกับแรงงานไทยและครอบครัวแรงงานไทย ที่ทำงานประเทศอิสราเอล ที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงาน รวมถึงปัญหาอื่นๆ นำมาหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ ตนได้ชี้แจงไปว่า ต่อไปนี้การไปทำงานอิสราเอลเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 8 หมื่นบาท - 1 แสนบาท และจัดส่งโดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐเพราะไม่อยากให้เปิดช่องว่างให้คนไม่ดีมาฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าหัวคิว ต่อไปนี้กระทรวงแรงงานจะจัดส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลเอง ไม่ใช่ของปลอมแน่นอน

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ครอบครัวของแรงงานร้องเรียนว่า ถูกนายจ้างอิสราเอลบังคับเซ็นยินยอมไม่ขอรับเงินภาษีรายได้ที่นายจ้างหักไว้ 10% ของเงินเดือนคืน เมื่อหมดระยะเวลาจ้างงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเป็นสิทธิที่แรงงานไทยควรได้รับเงินคืนและเงินที่แรงงานไทยแต่ละคนสูญเสียไปให้แก่นายจ้างถือเป็นเงินก้อนโต

“หากคิดจากเงินเดือนของแรงงานไทย ยกตัวอย่างได้เงินเดือน 3.6 หมื่นบาทต่อเดือน ถูกหักไว้เดือนละ 10% ก็เป็นเงินเดือนละ 3,600 บาท ช่วงเวลาทำงานตามสัญญาจ้าง 2-5 ปีก็ถือเป็นเงินก้อนโต ถ้าแรงงานไทยมีปัญหาในลักษณะเช่นนี้จำนวนมาก ก็เท่ากับว่าเงินของแรงงานไทยที่จะต้องสูญเสียไปให้แก่นายจ้างชาวอิสราเอลเป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากทำงานนาน 2-5 ปี จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปตรวจสอบและหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยเจรจากับทางรัฐบาลอิสราเอล” รมว.แรงงาน กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายเอ (นามสมมติ) แรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่อิสราเอล จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนไปทำงานด้านการเกษตรที่อิสราเอลโดยมีสัญญาจ้าง 5 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2549-2554 ได้เงินเดือน 40,000 บาทต่อเดือนและถูกหักภาษีรายได้ 10-15% หรือประมาณเดือนละกว่า 4,000 บาท ซึ่งรวมเวลา 5 ปีเป็นเงินกว่า 2.4 แสนบาทในช่วงใกล้หมดสัญญาจ้าง ทางนายจ้างอิสราเอลให้เซ็นยินยอมไม่ขอรับเงินทั้งหมดที่ถูกหักภาษีและไม่ให้มีการเอาความใดๆกับนายจ้าง หากไม่เซ็นหรือหนีกลับไทย ก็จะไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งตนและเพื่อนๆแรงงานไทยรวม 20 คน ก็ต้องเซ็นยินยอมไปเพราะกลัวไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งถ้าหากรวมเงินของแรงงานทั้ง 20 คน จะเป็นเงินทั้งสิ้น 4.8 ล้านบาท

ปัญหานายจ้างอิสราเอลให้แรงงานไทยเซ็นยินยอมไม่ขอรับเงินทั้งหมดที่ถูกหักภาษีนั้นมีมานานกว่า 10-20 ปีแล้ว แรงงานรุ่นพี่ๆก็ถูกนายจ้างสั่งให้เซ็นยินยอมเช่นกัน ไม่มีใครเคยได้เงินส่วนนี้กลับมาเลย เพราะเมื่อเซ็นยินยอมไปแล้วก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากนายจ้างอิสราเอลได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้บริษัทจัดหางานไทยคงจะร่วมมือกับนายจ้างชาวอิสราเอลเพราะแรงงานไทยได้ขอให้บริษัทจัดหางานไทยช่วยเจรจากับนายจ้างให้คืนเงินนี้ แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จึงอยากให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะเงินก้อนนี้ล้วนมาจากหยาดเหงื่อของแรงงานไทยทั้งนั้น” นายเอ กล่าว

นายปองพล แสงแก้ว อดีตแรงงานไทย ใน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ที่เคยไปทำงานด้านเกษตรที่อิสราเอลกว่า 13 ปี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการไปทำงานที่อิสราเอลโดยผ่านบริษัทจัดหางานยังเป็นช่องทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่าระบบการจัดส่งโดยกระทรวงแรงงานซึ่งใช้ระบบรัฐต่อรัฐ เพราะมีคิวการเดินทางที่แน่นอนไม่ต้องรอนาน 2-3 ปี อีกทั้งการที่กรมการจัดหางานใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มเลือกแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลจาก 1,000 คน เหลือ 200 คน ก็ไม่รู้ว่าจะมีการใช้เส้นสายกันหรือไม่ และไม่รู้ว่าแต่ละคนจะได้เดินทางไปเมื่อ่ไหร่ รวมทั้งการจัดส่งโดยรัฐต่อรัฐนั้น ทำให้ไม่มีผู้ดูแลแรงงานไทยที่ชัดเจน เวลาที่แรงงานไทยเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร หากไปร้องเรียนต่อสถานทูตไทยก็ใช้เวลานาน

“อยากให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เช่น กรณีไม่ได้รับเงินเดือน มีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยจากแรงงานไทยย่อยๆ ขึ้นในโมชาร์ปในอิสราเอล ซึ่งควรเน้นพื้นที่ที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่หนาแน่น เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้แก่แรงงานในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนกรณีแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศควรปรึกษาสำนักงานหางานจังหวัดในพื้นที่จะเป็นการดีที่สุดไม่ควรเชื่อนายหน้าที่เอาใบปลิวมาแจกตามหมู่บ้าน” นายปองพล กล่าว

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กฎหมายของอิสราเอลกำหนดให้แรงงานไทยที่เข้าไปทำงาน จะต้องถูกหักภาษีรายได้ 10% ของเงินเดือนแต่ละเดือนและเมื่อทำงานครบกำหนดสัญญาจ้างออกจากอิสราเอลแล้ว ก็จะได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแรงงานไทยไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืน หรือหากได้รับคืนก็ได้แค่ครึ่งเดียวไม่เต็ม 100% เพราะจ่ายเป็นค่าจ้างทนาย 40-50% เพื่อฟ้องร้องเอาเงินส่วนนี้คืนจากนายจ้าง

ผมจะประสานอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานในอิสราเอลให้ไปเจรจากับรัฐบาลอิสราเอล เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกฎหมายของอิสราเอล โดยขอให้รัฐบาลอิสราเอลพูดคุยกับนายจ้างชาวอิสราเอล ขอให้โอนเงินที่ถูกหักภาษีคืนให้แก่แรงงานไทยเมื่อกลับถึงประเทศไทยเพื่อไม่ให้แรงงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบ” อธิบดีกกจ.กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีที่แรงงานเป็นห่วงว่าการจัดส่งแรงงานโดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐและใช้วิธีการสุ่มเลือกผ่านระบบคอมพิวเตอร์จะมีการใช้เส้นสายนั้น เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะ การจัดส่งและสุ่มเลือกเป็นการดำเนินการระหว่าง กกจ.กับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และมีการสอบสัมภาษณ์ ส่วนการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ย่อยๆขึ้นในโมชาร์ปในอิสราเอล คิดว่า คงไม่จำเป็นต้องทำ เพราะขณะนี้ที่อิสราเอลมีสำนักงานแรงงานไทยอยู่แล้ว

นายประวิทย์ สมจิตร อุปนายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่รมว.แรงงานมีนโยบายแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน เนื่องจากนายหน้ามีการไปซื้อวีซ่าแล้วนำมาปั่นราคาให้สูง ทำให้การจัดส่งแรงงานไปอิสราเอลมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง ส่งผลให้บริษัทจัดหางานที่ไม่เกี่ยวข้องต้องตกเป็นจำเลยสังคม

“ส่วนการที่ภาครัฐจัดส่งแรงงานไปอิสราเอลแบบรัฐต่อรัฐแล้วจะกระทบกับธุรกิจของภาคเอกชนหรือไม่นั้น คิดว่าไม่มีผลกระทบเพราะบริษัทต่างๆ ไม่ได้จัดส่งคนงานไปอิสราเอลเพียงประเทศเดียว แต่จัดส่งไปที่อื่นๆ ด้วย อีกทั้งส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจนี้ 70% เป็นของภาคเอกชน 30% เป็นของภาครัฐ ส่วนการจัดส่งไปประเทศอิสราเอลก็มีส่วนแบ่งเพียง 5% ซึ่งเชื่อว่าบริษัทต่างๆ มีความสามารถในการปรับตัวได้อยู่แล้ว” นายประวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกกจ.โดยมีนางผจงสิน วรรณโกวิท รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการฯว่ามีการเซ็นคำสั่งจัดแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลโดยถูกต้องหรือไม่นั้น ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสัมภาษณ์นายสุเมธ ซึ่งนายสุเมธไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ ขณะที่นางผจงสินติดภารกิจเดินทางไปราชการต่างประเทศ คาดว่าจะเดินทางกลับในวันที่ 7 เม.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น