“เผดิมชัย” เต้นไอ้โม่งข่มขู่แรงงานไทยในอิสราเอล เปิดปากให้ข้อมูลเรียกเก็บค่าหัวคิวถูกส่งตัวกลับ สั่งทูตแรงงานตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการแก้ไขระเบียบจัดส่ง-เก็บค่าใช้จ่าย พร้อมเปิดศูนย์โปร่งใสรับร้องเรียนแรงงานถูกหลอก-เรียกเก็บหัวคิวไปทำงานต่างประเทศ วานนี้ ( 22 มี.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ให้ นายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และเอกอัครราชทูตด้านแรงงานที่อิสราเอลไปตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานไทยที่ไปทำงานอิสราเอลกับแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลในปัจจุบัน แต่แรงงานไทยไม่ยอมให้ข้อมูลว่า เสียเงินเดินทางไปเท่าไหร่ และจ่ายเงินให้แก่ใครบ้าง เนื่องจากมีผู้ไปข่มขู่แรงงานไทยหากให้ข้อมูลจะถูกส่งตัวกลับไทย
อย่างไรก็ตาม นายโชคชัย และเอกอัครราชทูตด้านแรงงานได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับแรงงานไทย ว่า ขอให้บอกความจริงมา และไม่ต้องเกรงกลัวใคร เพราะเป็นข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงาน และมาขอข้อมูลก็เพื่อให้แรงงานไทยไม่ถูกหลอกลวง เสียค่าใช้ตามความเป็นจริง ทำให้สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้ให้เอกอัครราชทูตด้านแรงงานตรวจสอบว่าใครที่ไปข่มขู่แรงงานไทย
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ยังได้จัดตั้งศูนย์โปร่งใสกระทรวงแรงงาน บริเวณใต้ตึกภายในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ วันสตอปเซอร์วิส ในการให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียนปัญหาต่างๆ ซึ่งศูนย์โปร่งใสนี้จะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องการไปทำงานต่างประเทศในประเทศต่างๆ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกหลอกลวง
ทั้งนี้ ตนได้ให้ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดี กกจ.ไปตั้งคณะกรรมการแก้ไขระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2537 และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ยังมีช่องโหว่ ซึ่งส่งผลให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น ระเบียบการจัดส่งและระเบียบเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากคนหางาน ซึ่งตนได้ให้คณะกรรมการไปดูว่าตามระเบียบที่เข้าใจกันว่าสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ไม่เกิน 4 เท่านั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะในระเบียบระบุไว้ว่า สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4 เท่าของอัตราเงินเดือนที่จะได้รับในประเทศนั้นๆ
“ต่อไปการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตามความจริง ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงระยะเวลาในการไปทำงานด้วย ไม่ให้เป็นเช่นที่ผ่านมาไปทำงานแค่ 2 ปี แต่ไปเรียกเก็บกว่า 1.8 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับไปทำงาน 5 ปี เมื่อไปทำงาน 2 ปี ก็ควรเสียค่าใช้จ่ายรวมแล้วไม่เกิน 7 หมื่นบาท หรือหากมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น จะต้องเสียเพิ่มเติม รวมแล้วก็ไม่ควรเกิน 1 แสนบาท ก็ยังยอมรับได้ เพื่อให้แรงงานเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด จะได้มีเงินเหลือใช้จ่ายและเลี้ยงดูครอบครัวได้” รมว.แรงงาน กล่าว