xs
xsm
sm
md
lg

ทูตอิสราเอลเคลียร์หัวคิวแรงงาน จ่ายไม่เกิน 7 หมื่น ส่งแบบรัฐต่อรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทูตอิสราเอลถก “เผดิมชัย” แก้หัวคิวแรงงานไทย สรุปเสียเงินไม่เกิน 6.9 หมื่นบาท จัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ เปิดรับล็อตแรก 200 คน ผ่าน กกจ.ในเดือน เม.ย.นี้ หนุนสอบเก็บหัวคิว รมว.แรงงานโต้ “เฉลิมชัย” อย่างมองเป็นการเมือง ด้าน ประธานสอบข้อเท็จจริง คาดกลาง เม.ย.สรุปข้อมูลเสนอ รมว.แรงงาน

วันนี้ (16 มี.ค.) นายอิตซ์ฮัก โชฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวหลังหารือกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเก็บค่าหัวคิวแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล ว่า ต่อไปนี้กระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล จะให้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และรัฐบาลอิสราเอล ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายไม่เกิน 6.9 หมื่นบาทต่อคน ประกอบด้วย ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าตรวจสุขภาพ และค่าวีซ่า โดยเป็นการจัดส่งระหว่างรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลอิสราเอล ซึ่งต่อไปจะไม่มีการจัดส่งแรงงานไทยผ่านบริษัทจัดหางานอีก แต่จะให้เปิดให้แรงงานมาสมัคร กับ กกจ.เท่านั้น และสุ่มเลือกโดยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันการเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หลังจากนี้อิสราเอลจะเร่งส่งตำแหน่งงานว่างมาให้ กกจ. คาดว่าจะมีประมาณ 200 ตำแหน่ง และจะเริ่มใช้ระบบใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนจะมีการจัดส่งแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของนายจ้างประเทศอิสราเอล

“หลายประเทศทราบเรื่องการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลไทยกับอิสราเอล ในการส่งแรงงานไทยไปทำงาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลายประเทศอยากนำไปดำเนินการ เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่าย รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ถือเป็นแบบอย่างได้” นายอิตซ์ฮัก โชฮัม กล่าว

นายอิตซ์ฮัก โชฮัม กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวไปทำงานอิสราเอลนั้น ขณะนี้ทางรัฐบาลอิสราเอลกำลังดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางานในอิสราเอล ที่ร่วมมือกับบริษัทคู่ค้าที่เป็นบริษัทจัดหางานในไทย โดยกฎหมายของอิสราเอลให้แรงงานมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 บาท ทั้งนี้ ปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวเกิดขึ้นในไทย ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายของไทย แต่หากเกิดขึ้นในอิสราเอล ก็จะดำเนินการตามกฎหมายของเราเช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีทางเอ็นจีโอ กับภาคประชาชน ของอิสราเอล เห็นว่ามีการเรียกเก็บหัวคิวเกินที่กฎหมายกำหนด ก็ให้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล อย่างไรก็ตาม ไม่ควรโทษแรงงานที่ยอมจ่ายเงินจำนวนที่สูงเพื่อให้ได้มาทำงาน เพราะเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ รัฐบาลไทย ร่วมกับรัฐบาลอิสราเอล รวมถึง ไอโอเอ็ม ร่วมมือกันแก้ปัญหา

นายอิตซ์ฮัก โชฮัม กล่าวถึงกรณีที่ไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวนการเรียกเก็บค่าหัวคิวนั้น ว่า ตนก็เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง และหวังว่าจะได้เห็นการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดี กกจ. กล่าวว่า กกจ.จะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลในระบบรัฐต่อรัฐ ผ่านไอโอเอ็ม โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 6.9 หมื่นบาท ซึ่งผู้ที่สนใจไปทำงานจะต้องมาลงทะเบียนที่ กกจ.เท่านั้น เนื่องจากขณะนี้ กกจ.ระงับการจัดส่งแรงงานโดยบริษัทจัดหางาน

อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ส่วนการสอบสวนการเรียกเก็บค่าหัวคิวไปทำงานอิสราเอล ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐาน รวมทั้งสอบถามข้อเท็จจริงจากบริษัทจัดหางานทั้ง 38 แห่ง ที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลก่อนหน้านี้ และสอบถามครอบครัวของแรงงานไทย อีกทั้งยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามข้อมูลจากแรงงานไทยที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่อิสราเอลด้วย คาดว่าจะสรุปผลสอบได้ภายใน 2-3 อาทิตย์นี้เพื่อเสนอรมว.แรงงาน และส่งไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พิจารณาด้วย

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการเรียกเก็บค่าหัวคิวจริง ก็จะมีเงินประกันจากกองทุนคุ้มครองคนหางาน ซึ่งแต่ละบริษัทจะต้องจ่าย 5 ล้านบาท นำมาจ่ายชดเชยเป็นค่าเสียหายให้แก่แรงงานได้ อีกทั้งยังสามารถฟ้องแพ่งและอาญาได้ด้วย ส่วนกรณีพบว่าข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้อง ทาง รมว.แรงงาน ให้ลงโทษทางวินัยอย่างเต็มที่

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือไปถึงสถานทูตอิสราเอล ว่าไทยมีความพร้อม และได้มีการวางกรอบการป้องกันการเรียกเก็บค่าหัวคิว เพื่อป้องกับการถูกหลอกลวงไว้อย่างรัดกุมที่สุด ซึ่งตนจะให้ทั้ง 5 หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ทำงานอย่างบูรณาการ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่แรงงาน ในเรื่องวิธีการและมาตรการดูแลแรงงานไทยที่จะไปทำงานอิสราเอล เช่น เสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 7 หมื่นบาท ไม่ใช่ 1.8 แสนบาทเช่นที่ผ่านมา โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปทำงานต่างประเทศ

นายเผดิมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ อดีต รมว.แรงงาน ระบุว่า มีคนใกล้ชิดตนเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวจากบริษัทจัดหางาน เป็นเงินบริษัทละ 3 หมื่นบาท ว่า อยากให้เลขาธิการ ปชป.พูดให้ชัดมาเลยว่าเป็นใคร เรื่องนี้ไม่ใช่การเมือง แต่ตนทำเพื่อผลประโยชน์ของแรงงานไทย จะแก้ระบบให้ถูกต้อง และผิดช่องโหว่ เพื่อให้แรงงานเสียค่าใช้จ่ายราคาถูก และมีเงินเหลือเก็บกลับมา ไม่เป็นหนี้สิน และกรณีการเรียกเก็บค่าหัวคิว ตนไม่ได้พูดพาดพิงถึงใคร ซึ่งการที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ใคร เป็นเรื่องที่ดีเอสไอ และ ปปช.จะไปตรวจสอบเอง เป้าหมายหลักของตนคือ อยากให้เกิดความยุติธรรม ไม่มีการเอาเปรียบและหลอกลวงแรงงานไทย ซึ่งในส่วนของข้าราชการ อาจจะไม่ได้ตั้งใจ อาจอนุมัติไปเพราะเป็นหน้าที่ วันนี้จึงยังบอกไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก จะต้องตรวจสอบให้ละเอียดและให้ความเป็นธรรม

“ผมไม่อยากพูดอะไรลอยๆ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการเรียกเก็บค่าหัวคิวให้ชัดเจน ถ้ายกเมฆมาพูดเป็นการเมือง แล้วจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างไร แรงงานไทยถูกเรียกเก็บค่าหัวคิวไปทำงานต่างประเทศ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไปทำงานอิสราเอล 2-3 หมื่นคน เสียค่าหัวคิวคนละ 3.5 แสนบาท เสียเงินรวมแล้วหลายพันล้านบาท ผมคิดว่า นายเฉลิมชัย คงตกเลข ที่บอกว่าคนใกล้ชิดของผมไปเรียกเงินจากบริษัทจัดหางาน โดยเรียกหัวคิวจากแรงงาน หัวละ 3 หมื่นบาท ถ้าคิดตัวเลขแรงงาน 2 หมื่นคน รวมแล้วไม่ถึงพันล้านบาท แค่ไม่กี่ร้อยล้านบาท ถ้านายเฉลิมชัย ไม่ได้แก้ปัญหาแล้วอย่ามาพูด อย่ามองอะไรก็เป็นการเมือง” นายเผดิมชัย กล่าว

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมา ได้มีสมาคมจัดหางานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยมีบริษัทจัดหางานมาขอเข้าพบ 6-7 บริษัท เพื่อขอความชัดเจนเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งตนได้บอกไปว่า ทำไมต้องเอาคนไทยไปลำบาก กลับมาเป็นหนี้สิน เงินที่บริษัทเก็บไป ก็เป็นค่าแรงของแรงงานทั้งนั้น ทางบริษัทก็บอกว่ารัฐบาลไทยไม่มีทางเอาชนะรัฐบาลอิสราเอลได้ ตนก็ตอบกลับไปว่า อยากจะชนะบ้าง และขณะนี้ได้สั่งระงับการส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลแล้ว

ด้าน นายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐาน ข้อมูล ทั้งในเรื่องระเบียบการ วิธีการจัดส่งและการอนุมัติการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลย้อนหลัง 3 ปีในช่วงระหว่างปี2553-2555 เพื่อดูว่ามีข้าราชการ กกจ. รวมถึงบริษัทจัดหางานใดบ้างเข้าไปเกี่ยวข้องและใครเป็นผู้อนุมัติในการจัดส่ง คาดว่าจะรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า

นายโชคชัย กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นตนจะเชิญข้าราชการที่เกี่ยวข้องในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลในช่วง 3 ปีนี้เข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งจะสืบหาข้อมูลจากพยานแวดล้อม ทั้งในส่วนของบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอล และสอบถามข้อมูลจากแรงงานไทยที่เคยไปทำงานอิสราเอล และแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ ตนจะเร่งรวบรวมข้อมูลทั้งในส่วนของเอกสารและพยานบุคคลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันตามคำสั่งของรมว.แรงงาน ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินกลางเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะรายงานข้อมูลทั้งหมดต่อ รมว.แรงงาน ต่อไป

“ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบเอกสารข้อมูลขั้นตอนการอนุมัติและวิธีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล ยังไม่มีการชี้ถึงความผิดของข้าราชการคนใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีข้าราชการสังกัดกกจ.คนใดเกี่ยวข้องบ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไร จะต้องสรุปข้อมูลพยานเอกสารให้เสร็จก่อน จึงจะรู้ว่ามีข้าราชการคนใดเกี่ยวข้อง และมีการเรียกเก็บค่าหัวคิว รวมถึงร่วมมือกับบริษัทจัดหางานหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการเรียกข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน” นายโชคชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น