หัวคิวแรงงานไทยไปอิสราเอลพ่นพิษ “เผดิมชัย” ไฟเขียว สอบ “สุเมธ” รองอธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมนำสื่อลงพื้นที่ จ.อุดร แหล่งใหญ่รีดหัวคิวในภาคอีสาน พบมี 3 บริษัทเอี่ยวรีดค่าหัว สั่งพักใบอนุญาตแล้ว 1 ราย เตรียมแจ้งความเพิ่ม
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการคลายทุกข์สร้างสุข ช่วยเหลือแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ถูกขูดรีดเก็บค่าหัวคิว โดยมีคนงานใน จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียงนับพันคน ที่รอเดินทางไปอิสราเอลเข้ารับฟังขั้นตอนการเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียตามระบบใหม่ไม่เกิน 7 หมื่นบาท จากเดิมที่บริษัทจัดหางานเคยขูดรีดเรียกเก็บค่าหัวสูงถึงรายละ 3-4 แสนบาท จากนั้นได้นำคณะลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านใน ต.โพนงาม อ.หนองหาน ซึ่งส่วนใหญ่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานรายละหลายแสนบาท ขณะที่บางคนจ่ายเงินแล้วแต่ไม่ได้เดินทางไปทำงานต้องเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเงินจำนวนมาก โดยนายเผดิมชัย กล่าวว่า มีบริษัทจัดหางานใน จ.อุดรฯ 3 แห่ง เกี่ยวข้องในการเรียกเก็บค่าหัวคิวไปอิสราเอลสูงเกินจริง ซึ่งขณะนี้กำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะแจ้งความดำเนินคดี โดยมี 1 ใน 3 บริษัท ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตแล้ว
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้ลงนามแต่งตั้ง นางผจงสิน ดีผดุง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานสอบสวนข้อเท็จจริงนายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เนื่องจากพบว่าได้มีการออกประกาศฉบับหนึ่ง เพื่อเร่งรัดให้เกิดการจัดส่งแรงงานไปประเทศอิสราเอลในระหว่างที่ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เดินทางไปราชการต่างประเทศในช่วงเดือน ก.พ.โดยกระบวนการสอบนั้นจะต้องดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริงว่าประกาศดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่ หรือเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริต
ด้านนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมการจัดหางาน ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขระเบียบการเก็บค่าใช้จ่ายการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ปี 2548 เนื่องจากมีข้อบกพร่องที่อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย โดยให้แนวทางไว้ 3 ข้อ คือ 1.ระเบียบดังกล่าวต้องระบุชัดเจนค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงและค่าบริการมีอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนที่จะไปทำงานต่างประเทศเข้าใจว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ 2.ระเบียบที่ร่างใหม่จะต้องสามารถปฏิบัติได้ และพิสูจน์ได้ว่าทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ 3.อาจให้มีการรื้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการไปทำงานต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดข้ออ้างว่าระเบียบดังกล่าวเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือที่ นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ลงนามประกาศไปถึงผู้รับอนุญาตจัดหางาน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ซึ่งมีผลให้เกิดการเร่งรัดจัดส่งแรงงานไปประเทศอิสราเอล จนเป็นประเด็นให้กระทรวงแรงงาน ต้องตั้งกรรมการสอบสวน เนื่องจากประกาศดังกล่าวทำขึ้นในช่วงที่ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เดินทางไปต่างประเทศ โดยในคำสั่งระบุข้อความว่า “ตามที่กรมการจัดหางานเตรียมจัดส่งแรงงานภาคการเกษตรไปทำงานที่อิสราเอลตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลอิสราเอล ในช่วงเดือน มี.ค.2555 ในการนี้หากท่านได้รับอนุญาตวีซ่าจากอิสราเอล และยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดส่ง ขอให้เร่งรัดดำเนินการขออนุญาตให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อมิให้แรงงานเสียโอกาส” ทั้งนี้ นายสุเมธ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมการจัดหางาน ในช่วงที่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง เป็น รมว.แรงงาน ในปี 2552
สำหรับสถิติแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลในปี 2552 จัดส่งไปจำนวน 6,338 คน ปี 2553 จำนวน 8,136 คน ปี 2554 จำนวน 9,333 คน ล่าสุด มีแรงงานไทยในอิสราเอลทั้งสิ้น 25,000 คน โดยในปี 2554 แรงงานไทยส่งเงินกลับประเทศ 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2555 จะมีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมโดยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม จำนวน 6,596 คน