เหตุไฉนจึงกลายเป็น MOU
แจกแท็บเล็ต 9 แสนเครื่อง?
....เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
ณ เวลานี้แน่ชัดแล้วว่าการจัดซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแบบพกพา ในโครงการ One Tablet Pc Per Child ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อแจกเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 9 แสนเครื่อง ซึ่งใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาทนั้น
ขณะนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2555 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อมาเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แทนการใช้ระบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government) หรือ จีทูจี ซึ่งก่อนหน้านั้นเดือน ก.พ.ครม.เคยมีมติให้ดำเนินการในรูปแบบจีทูจี โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทำหน้าที่ในการลงนามในบันทึกข้อตกลง ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินการในการจัดซื้อ ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นไปตามข้อหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไอซีที กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เพื่อขอจัดซื้อโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน ทั้งนี้ การจัดซื้อดังกล่าวทาง กต.จะเป็นผู้ลงนามใน MOU และไอซีทีจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ
ทั้งนี้ มีการเปิดเผยว่าการทำ MOU นั้น จะทำกับ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ (Shenzhen Scope Scientific Development Co,Ltd) ที่ทางการจีนให้การรับรอง เรื่องคุณภาพ ในการทำสัญญากับรัฐบาลไทย และมีสาระสำคัญในเรื่องการประกันสินค้าระหว่างการจัดส่ง และอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัสดุให้ความเห็น ทั้งนี้ ขั้นตอนจากนี้ไป จะทำการร่างสัญญา การจัดซื้อ ให้เป็นไปตาม มติ ครม.ก่อนส่งให้ อัยการสูงสุดพิจารณา ตามขั้นตอน คาดว่า จะเรียบร้อยภายในสิ้นเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าประมาณ 2-3 สัปดาห์ มีข่าวออกมาเป็นระลอกว่าจะมีการนำเสนอวาระแท็บเล็ตเข้าสู่ที่ประชุม ครม.โดยจะนำเสนอรายชื่อบริษัท 4 แห่งที่คณะกรรมการจัดซื้อแท็บเล็ต ได้เดินทางไปดูโรงงาน และฐานการผลิตถึงประเทศจีน และได้ให้คะแนนแต่ละบริษัท ซึ่งในจำนวน 4 บริษัทนั้น บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ที่จะมีการทำ MOU กันในเร็ววันนี้ ได้รับคะแนนสูงสุด เพราะถือว่าตอบโจทย์ทั้งสเปก คุณสมบัติที่ต้องการและราคาตรงใจ อยู่ที่ประมาณ 81 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินไทยประมาณ 2,100 บาท แต่ท้ายสุดก็ไม่มีการนำเสนอแต่อย่างใด
คาดว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อครั้งนี้ น่าจะเป็นผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน ที่มี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ได้มีการประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา แม้ภายหลังการประชุมจะมอบหมายให้ น.อ.อนุดิษฐ์ รับหน้าที่แถลงผลต่อที่ประชุมก็ตามแต่เนื้อความในการแถลงข่าวครั้งนั้น ก็ยังยืนยันจะดำเนินการแบบจีทูจี อยู่ก็ตาม และระบุว่า เป็นเพียงการรับทราบผลการดำเนินการคัดเลือกของคณะกรรมการจัดซื้อแท็บเล็ต และในส่วนของรัฐบาลไทยถือว่าสิ้นสุดแล้ว และไม่ขอเปิดเผยรายชื่อบริษัทจนกว่าประเทศจีนจะให้คำตอบ
จนกระทั่งก่อนหน้าการประชุม ครม.สัญจร 1 วัน ศ.ดร.สุชาติ ที่ยืนยันมาตลอดว่า การจัดซื้อแบบจีทูจีนั้นเหมาะสม และทำให้เกิดความโปร่งใส ก็ได้ให้สัมภาษณ์ ว่า “จะเสนอ ครม.ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อแท็บเล็ต จากระบบจีทูจี มาเป็นการลงนามใน MOU แทน นั่นเพราะการจัดซื้อระบบจีทูจี แต่ละหน่วยงานให้คำจำกัดความไม่เหมือนกัน บางหน่วยงานเห็นว่าจะต้องมีความเข้มกว่านี้ โดยรัฐบาลจะต้องเอาแท็บเล็ตมาส่งให้แก่รัฐบาลไทย ซึ่งจะให้รัฐบาลจีนมารับผิดชอบและรับประกันบริษัทที่ได้รับเลือกคงทำไม่ได้ แต่รัฐบาลจีนจะคอยช่วยเหลือและดูแลให้ และที่สำคัญการจัดซื้อด้วยวิธี MOU จะเป็นการป้องกันการวิ่งเต้นติดสินบนในการประมูลด้วย”
สำหรับเนื้อหาหลักสูตรที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะได้จัดเตรียมเรียบร้อย 100% แล้วใน 5 กลุ่มสาระวิชา คือ คณิตศาสตร์ อังกฤษ ไทย สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเน้นรูปแบบ Learning Object และ e-book ซึ่งใช้พื้นที่ความจำเพียง 4 กิกะไบต์ จาก 8 กิกะไบต์ ได้ส่งมอบให้ทางบริษัทเป็นผู้ผลิตบรรจุลงเครื่องและเมื่อได้รับการจัดส่งล็อตแรก อย่างต่ำจำนวน 2,000 เครื่อง หรือมากกว่านั้นที่จะมาในช่วงปิดเทอมนี้ ก็จะถูกนำมาทดสอบประสิทธิภาพ และนำไปใช้อบรมพัฒนาครูแกนนำให้เป็นหน่วยเสริมกระจายไปให้ความรู้แก่ครูอื่นๆ เพื่อจะได้ใช้งานสอนหนังสือได้จริง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการแจกแท็บเล็ตของรัฐบาลนั้นยังไม่หยุดแค่ระดับ ป.1 เท่านั้น แต่มีแนวคิดจะกระจายไปสู่ระดับอื่นๆ โดยเป้าหมายต่อไป คือ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ด้วย แต่ทว่า..กว่าจะได้บทสรุปแนวทางการจัดซื้อจากระบบ จีทูจี มาสู่บทสรุปของการลงนาม MOU นั้น แนวทางการดำเนินการนโยบายแท็บเล็ตก็ใช้เวลาหลายแดดหลายฝน กว่าจะออกผลมาเป็นรูปเป็นร่าง ไม่รู้ว่าการเจรจานั้นต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของเด็กไทย หรือเพื่อผู้ใหญ่ของใคร แต่ที่แน่จะจัดซื้อและส่งแท็บเล็ต ให้ ศธ.กระจายไปถึงมือนักเรียน ป.1 ทันใช้เปิดเทอม พ.ค.นี้หรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป