xs
xsm
sm
md
lg

ปูอ้างไม่ขัดม.190 “เอ็มโอยู”ซื้อแท็บเล็ตจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 มี.ค.55) ที่รัฐสภา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้สั่งซื้อคอมพิวเตอร์แบบพกพาหรือแท็บเล็ตจากรัฐบาลจีนด้วยการลงนามในเอ็มโอยู จะต้องนำกรอบการเจรจา เข้าขออนุมัติจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่า “ไม่ต้องเข้าค่ะ”
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวถึงมติครม.ที่เปลี่ยนการจัดซื้อแท็บเล็ต มาทำสัญญาแบบเอ็มโอยู ว่า ข้อเท็จจริงคือ ตั้งแต่แรกกรรมการดำเนินการในแนวทางเอ็มโอยูมาตลอด ได้ขอความเห็นชอบไว้ก่อนแล้วว่า จะเป็นการลงนามแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งไม่ขัดกฎหมายของไทย ทั้งนี้ได้เลือกบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ส่วนการเซ็นสัญญา คณะทำงานจะทำร่างสัญญาลงรายละเอียดเรียบร้อย ก่อนส่งสำนักอัยการสูงสุดให้ความเห็นชอบ ก่อนลงนามต่อไป ทั้งนี้ ราคาซื้ออยู่ที่เครื่องละ 81 เหรียญสหรัฐ จำนวน 900,000 เครื่อง
นายตวง อันทะไชย สว.สรรหา กล่าวว่า อะไรก็ตามถ้าเป็นการไปทำข้อตกลงระหว่างประเทศ และผลผูกพันงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 คำว่าผลผูกพันงบประมาณอย่างมีนัยยะสำคัญ นั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะกี่บาท เพราะฉะนั้นงบประมาณซื้อแท็บเล็ตร่วม 2,000 ล้านบาท ยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องนำเข้ารัฐสภา
“วันนี้รัฐบาลต้องทบทวนใหม่ แม้จะไม่ทันแจกนักเรียนในช่วงเปิดเทอมก็ตาม โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายของประเทศ เพราะนโยบาย ถ้าส่งผลเสียมากกว่าผลดี รัฐบาลต้องทบทวน"นายตวงกล่าวและว่าถ้าไปดูบทเรียนการใช้แท็บเล็ต ของอังกฤษไม่ได้อยู่ที่ว่ามีหรือไม่มี แต่อยู่ที่ว่าเขาเตรียมครูให้พร้อม แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือของครูในการสอนเด็ก และหากไม่พร้อมมันก็จะเป็นซากปรักหักพังทางเทคโนโลยี ไม่ต่างจากการแจกคอมพิวเตอร์โรงเรียน”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ว่า มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้งานในการศึกษาว่า จะนำมาใช้อย่างไร มีหลักสูตรรองรับแล้วหรือไม่ เนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ตเป็นอย่างไร และครูผู้สอนได้อบรมทำความเข้าใจหรือยัง รวมถึงแท็บเล็ตนี้จะตอบสนองเป้าหมายการศึกษาอย่างไร คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญแต่กลับได้ยินเรื่องเหล่านี้น้อยมาก และตนต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องนี้
“ผมคิดว่ามี 2 เรื่องที่อยากให้แยกออกจากกัน เรื่องแรกก็คือการผลักดันเรื่องนี้ในเชิงนโยบาย แล้วก็เราต้องเข้าใจว่า ทำเรื่องนี้ทั้งหมดมันควรจะมีเป้าหมายก็คือเพื่อให้การศึกษาเราดีขึ้น เอาหล่ะ เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล พี่น้องประชาชน ผมก็สันนิษฐานว่า เห็นด้วยเพราะว่าลงมติเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็เดินหน้า แต่ว่าคำถามวันนี้ที่เราได้ยินกันน้อยมากก็คือว่า บอกว่า แท็บเล็ตต้องแจกให้ทันเปิดเทอมเดือนพฤษภา ถามว่า ก่อนที่จะเอาแท็บเล็ตไปแจกนั้น ในแง่การศึกษาแล้ว ผมว่าเราต้องมาพิจารณากันว่าจะใช้แท็บเล็ตในการศึกษาอย่างไร เราคงไม่ได้มีความดีอกดีใจบอกว่าเอาละเด็กของเรามีแท็บเล็ต ถือไว้โชว์เล่น มันต้องมาบอกว่า ต่อไปนี้แท็บเล็ตอาจจะใช้ในเรื่องการศึกษาอย่างไร หลักสูตรเตรียมหรือยัง เนื้อหาที่จะใช้ผ่านแท็บเล็ตคืออะไร สิ่งสำคัญที่สุดครับ คือบุคลากรในการศึกษาคือ ครู ซึ่งจะต้องเป็นคนสอนเด็กนั้น ได้มีการอบรมทำความเข้าใจหรือยังว่า สิ่งที่จะใช้ต่อไปก็คือตัวแท็บเล็ตนั้นจะมาตอบสนองเป้าหมายในเรื่องของการศึกษาอย่างไร ตรงนี้เราได้ยินน้อยมาก เพราะฉะนั้นผมว่าตรงนี้มันเป็นสิ่งสำคัญที่อยากเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ”
ส่วนประเด็นที่ 2 ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนกระบวนการจาก จีทูจี มาเป็น เอ็มโอยู ฝ่ายค้านก็จะดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป ส่วนเรื่องที่ 2 ที่แยกออกมาก็คือ ตัวการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งวันนี้ก็ต้องมีการติดตามตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป แต่ว่าประเด็นที่เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นก็เป็นอย่างนี้นะครับว่า มันเหมือนกับว่าเดิมนั้น กระบวนการของการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นกรณีที่ต้องทำในรูปแบบพิเศษ ก็อ้างว่าเป็นเรื่องจีทูจี
“ผมก็สันนิษฐานเอานะครับ กำลังตรวจสอบอยู่ว่า แสดงว่าไม่ต้องมีการประมูล ไม่ต้องมีอะไรใช่หรือไม่ ก็เป็นการเจรจาแล้วก็ตกลงกันอย่างนี้ ทีนี้พอวันดีคืนดีพอวันสุดท้ายมาบอกว่า ตกลงไม่ใช่จีทูจีแล้ว จะเปลี่ยนให้ไปเป็นใช้คำว่า เอ็มโอยู ซึ่งก็ต้องไปดู เอ็มโอยูระหว่างใครกับใคร ตกลงเป็นเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัทเอกชน แล้วเนื้อหาในเอ็มโอยูคืออะไร เป็นสนธิสัญญาหรือไม่อะไรก็ต้องไปตรวจสอบกันตรงนี้ และที่สำคัญก็คือว่า จากเดิมที่อ้างว่าเนื่องจากจะเป็นการซื้อรัฐต่อรัฐนั้นก็ไม่ต้องใช้กระบวนการตามปกติ วันนี้เมื่อไม่ใช่รัฐต่อรัฐแล้ว ทำไมถึงยังเดินหน้าต่อ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งก็จะมีการตรวจสอบกันครับ วันนี้ในครม.เงา ก็คงจะได้มีการพูดคุยเรื่องนี้พอสมควร”นายอภิสิทธิ์
นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีความพร้อม 100 % ในการนำเนื้อหาใส่ลงในแท็บเล็ต ทั้งหลักสูตรเนื้อหาและกระบวนการนำเนื้อหาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นลิขสิทธิ์ของ สพฐ และเน้นเพียงเนื้อหาในกลุ่มสาระวิชาหลัก 5 กลุ่มเท่านั้น คือ วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาสังคม และทำในรูปแบบ Learning Object และ e-book โดยใช้พื้นที่ความจำ 4 กิ๊กกะไบต์ จาก 8 กิ๊กกะไบต์
ซึ่งทาง ศธ.ได้นำเนื้อหาที่จะใส่ลงในแทบเล็ตไปส่งมอบให้บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับไทยในการผลิตแท็บเล็ตที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วเพื่อนำเนื้อหาทั้งหมดบรรจุพร้อมไปพร้อมๆกับกระบวนการผลิต
คาดว่าจะมีการส่งมาถึงไทยในล็อตแรกจำนวน 2,000 เครื่องหรือมากกว่านั้นที่จะนำมาใช้ในการอบรมศึกษานิเทศก์ และวิทยากรที่จะต้องทำก่อนเปิดภาคเรียน ในช่วงเวลานี้ ทาง สพฐ.โดยสำนักเทคโนโลยีฯก็จะเป็นผู้ทดสอบเครื่องล็อตแรกทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น