“สุชาติ” แจง วุฒิฯ ไม่มีนโยบายการบริจาคเงินแลกกับการเข้าเรียน ยันนั่งเก้าอี้ รมว.ศธ.จะไม่มีเรื่องการคอร์รัปชันในกระทรวงศึกษาธิการ ด้าน “นิด้าโพล” คนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.82 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ ศธ.ที่จะให้เปิดห้องเรียนรับเด็กฝาก สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปิดกั้นเด็กเก่ง
การประชุมวุฒิสภา มีวาระการหารือที่น่าสนใจเรื่องนโยบายการรับนักเรียนปีการศึกษา 2555 ที่ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม ศาสตราจารย์ สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ โดย นายตวง ขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการรับนักเรียนของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องของการบริจาคแลกกับการให้นักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนดี เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมล้ำในสังคม และเกรงว่า หากปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ต่อไปจะทำให้เกิดวัฒนธรรม และค่านิยมที่ไม่ดีในสังคมไทย ด้าน นายสุชาติ ชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายดูแลนักเรียนอย่างลูกหลาน ดังนั้น จึงไม่มีนโยบายการบริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าเรียน พร้อมยืนยันว่า ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีจะไม่มีเรื่องการคอร์รัปชันในกระทรวงศึกษาธิการ ขณะเดียวกัน เตรียมที่จะยกระดับคุณภาพของครู เพื่อให้สอดรับกับการยกระดับคุณภาพของนักเรียนทั่วประเทศ โดยจะตรวจสอบไม่ให้มีการวิ่งเต้นเพื่อการโยกย้ายตำแหน่ง และจะปรับเปลี่ยนใช้วิธีการสอบข้อเขียนแทนการสอบสัมภาษณ์เพื่อเป็นการวัดระดับคุณภาพของครูอย่างแท้จริง สำหรับการยกระดับด้านการศึกษาของนักเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมพัฒนาการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ พร้อมทั้งจะพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับนโยบายการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ของรัฐบาลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ บอกว่า เตรียมเปลี่ยนวิธีสอบเข้าโรงเรียน โดยจะวัดระดับการพัฒนาเรื่องศิลปะ และสุขภาพอนามัย เพิ่มเติมจากการวัดระดับเรื่องความรู้
“นิด้าโพล” เผยประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.82 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะให้เปิดห้องเรียนสำหรับนักเรียนที่ผู้ปกครองได้ให้เงินบริจาคกับโรงเรียน เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นการปิดกั้นนักเรียนที่เรียนเก่ง มีความสามารถแต่ขาดทุนทรัพย์ อยากให้วัดกันที่ความรู้มากกว่า ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายดังกล่าว ร้อยละ 48.81 เห็นว่า เป็นการปิดกั้นความสามารถของเด็กที่ขาดทุนทรัพย์ และอีกร้อยละ 26.15 เห็นว่า เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคม มากยิ่งขึ้น
ส่วนนโยบายนี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้านความเสมอภาคทางการศึกษาหรือไม่นั้น ร้อยละ 56.04 เห็นว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นการปิดกั้นความสามารถทางด้านการศึกษา สร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม แต่อีกร้อยละ 24.01 เห็นว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมปัจจุบันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว และนโยบายดังกล่าวนี้จะเป็นเป็นการสร้างค่านิยมให้กับเยาวชนในการใช้เงินแลกกับความต้องการและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไปในอนาคตหรือไม่นั้น ร้อยละ 71.30 ระบุว่า
ใช่ เพราะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ผิด ทั้งคุณธรรม และจริยธรรมแก่เยาวชนมีเพียงร้อยละ 18.52 ที่เห็นว่า ไม่ใช่ เพราะขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะยอมรับการใช้เงินเพื่อแลกกับความต้องการในรูปแบบไหนมากกว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล”สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบาย เงินบริจาคให้กับโรงเรียน” โดยสำรวจจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง โดยมีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกินร้อยละ 3.64 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
เห็นด้วยหรือไม่กับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะให้เปิดห้องเรียนสำหรับนักเรียนที่ผู้ปกครองได้ให้เงินบริจาคกับโรงเรียน ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม อยากให้วัดกันที่ความรู้มากกว่า และเป็นการปิดกั้นนักเรียนที่เรียนเก่ง และมีความสามารถแต่ขาดทุนทรัพย์ กรุงเทพและปริมณฑล ร้อยละ 12.40 ภาคกลาง ร้อยละ 10.73 ภาคเหนือ ร้อยละ 11.29 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 12.32 และภาคใต้ ร้อยละ 12.08
เห็นด้วย เพราะในปัจจุบันก็มีแบบนี้อยู่แล้วทำให้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะได้เป็นที่ยอมรับในสังคม และยังมองว่า จะได้นำเงินไปเป็นกองทุน สำหรับนร.ที่ขาดทุนทรัพย์และพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น กรุงเทพและปริมณฑล ร้อยละ 6.28 ภาคกลาง ร้อยละ 8.59ภาคเหนือ ร้อยละ 8.59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 7.47 และภาคใต้ ร้อยละ 7.31
ถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายเกี่ยวกับการรับเงินบริจาคในระดับโรงเรียน ถามว่าเป็นการปิดกั้นความสามารถของเด็กที่ขาดทุนทรัพย์ กรุงเทพและปริมณฑล ร้อยละ 8.98 ภาคกลาง ร้อยละ 11.84 ภาคเหนือ ร้อยละ 9.54 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 9.46 และภาคใต้ ร้อยละ 8.98 นอกจากนี้ เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคม มากยิ่งขึ้น กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 5.41ภาคกลาง ร้อยละ 3.97 ภาคเหนือ ร้อยละ 5.64 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 4.93 และภาคใต้ ร้อยละ 6.20 เป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบันก็ทำจนเป็น เรื่องปกติ กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 5.09 ภาคกลาง ร้อยละ 3.10 ภาคเหนือ ร้อยละ 4.61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 5.01 ภาคใต้ ร้อยละ 4.13 อื่นๆ เช่น เป็นการสมทบทุนให้กับนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ และเป็นการนำเงินไปพัฒนาโรงเรียน กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 0.16 ภาคกลาง ร้อยละ 0.24 ภาคเหนือ ร้อยละ 0.32 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.48 และภาคใต้ ร้อยละ 0.00
นโยบายนี้ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษาหรือไม่ มีผู้แสดงความเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการปิดกั้นความสามารถทางด้านการศึกษา สร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 11.69 ภาคกลาง ร้อยละ 9.62 ภาคเหนือ ร้อยละ 10.97 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 ภาคใต้ ร้อยละ 10.02 ส่วนที่บอกว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมปัจจุบันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 3.97 ภาคกลาง ร้อยละ 5.09 ภาคเหนือ ร้อยละ 5.72 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 4.37 ภาคใต้ ร้อยละ 4.85
นโยบายดังกล่าวจะเป็นการสร้างค่านิยมให้กับเยาวชนในการใช้เงินแลกกับความต้องการและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไปในอนาคตหรือไม่ ผลการสำรวจพบว่า ใช่ เพราะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดทั้ง คุณธรรม และจริยธรรมที่ไม่ถูกต้องแก่เยาวชน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 14.71 ภาคกลาง ร้อยละ 12.96 ภาคเหนือ ร้อยละ 15.02 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 16.85 และภาคใต้ ร้อยละ 11.76 อีกส่วนตอบไม่ใช่ เพราะขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลว่าจะยอมรับการใช้เงินเพื่อแลกกับความต้องการในรูปแบบไหนมากกว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล ร้อยละ 3.34 ภาคกลาง ร้อยละ 4.21 ภาคเหนือ ร้อยละ 4.45 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.31 และภาคใต้ ร้อยละ 4.21