xs
xsm
sm
md
lg

จี้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาการศึกษาไทย หาคนมีความสามารถมาพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิการ มธบ.ชี้ เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้การศึกษาไทยเกิดช่องว่างคนรวย-คนจน จี้! รัฐยกเครื่องการศึกษา สรรหาผู้กล้า ผู้เข้าใจมาแก้ปัญหา หนุนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา ขณะที่ อดีต รมว.ศธ ฝากทบทวนการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษา

วันนี้ (23 ก.พ.) รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ การบริหารและการจัดการ ครั้งที่ 7 “ยกเครื่องการศึกษาไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” โดยบรรยายพิเศษ ตอนหนึ่งว่า การยกเครื่องการศึกษาไทย ตอนนี้หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่ยกเครื่องแต่ต้องเปลี่ยนเครื่องแล้ว เพราะด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างคนที่มีทุนเดิม หรือคนรวยกับคนจน รวมถึงคนที่จบมหาวิทยาลัยกับไม่จบ ผลแตกต่างกันอย่างชัดเจน ฉะนั้น ถ้าทุนนิยมทำให้เกิดข้อแลกเปลี่ยน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้มีคนรวยยิ่งมีคุณภาพชีวิต การศึกษาดีขึ้น ขณะที่คนมีรายได้ต่ำ ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยจะเดียวดายอยู่ด้านหลัง

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวด้วยว่า รัฐสูบเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาการศึกษา แต่กลับผลิตบัณฑิตไม่มีคุณภาพ เพราะ 60% ของเงินทั้งหมด เป็นเงินของครู ทำให้เงินไม่ถึงตัวเด็ก คุณภาพเลยไม่เกิดขึ้น และสาเหตุสำคัญที่ทำให้การศึกษาตกต่ำ คือ รัฐไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น หากต้องการยกเครื่องการศึกษาไทยให้ดีขึ้น รัฐต้องแทรกแซงอย่าปล่อยให้เป็นไปตามระบบทุนนิยม และรัฐไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรียนใหญ่ เพื่อทำให้คนมีการศึกษาเท่าเทียมกัน แต่ควรมีการขยายการควบคุมของภาครัฐ กระจายอำนาจ ส่งเสริมให้โรงเรียนมีความคล่องตัว และต้องยอมรับตัวเองว่าภาครัฐมีการบริหารงานต่ำประสิทธิ์ภาพในการทำงานสู้ภาคเอกชนไม่ได้ และรัฐจะเข้ามาควบคุมทุกอย่างทางการศึกษาไม่ได้ รวมถึงควรสนับสนุนทางอ้อมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และแก้ไขโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้ารัฐไม่แก้ไขเรื่องเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษาได้

ด้าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวบรรยาย เรื่อง “ยกเครื่องการศึกษาไทย:จากอดีตสู่อนาคต” ตอนหนึ่งว่า การยกเครื่องการศึกษาไทย หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ทั้งระบบ และทั้งกระบวนการ ไม่ใช่ปรับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งการปฏิรูป ทั้ง 2 ทศวรรษ โดยในทศวรรษแรก หลักๆ มีการปฏิรูป 2 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูประบบการเรียนรู้ และปฏิรูประบบการบริหารจัดการ แต่ผลที่ออกมา ระบบปฏิรูปการเรียนรู้ไม่เกิดผล เปลี่ยนแต่รูปแบบ เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ดีขึ้น ระบบการบริหารจัดการได้แต่รูป แต่จูบไม่หอม เนื่องจากรูปแบบเปลี่ยน แต่กระบวนการบริหารจัดการเป็นแบบเดิม ส่วนปฏิรูปทศวรรษที่
 
2.การซ่อมครั้งใหญ่ โจทย์ในการพัฒนาพัฒนา 4 ด้าน คือพัฒนาคุณภาพคนไทย พัฒนาครู พัฒนาคุณภาพการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ เป็นสิ่งที่ต้องทำ และดีถ้าทำได้ แต่ถ้าดูกระบวนการขับเคลื่อน ทีี่มีคณะกรรมการหลายชุด มีอนุกรรมการเพียบ ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาต้องกลับมาทบทวนกันถึงกระบวนการที่จะทำให้เกิดขึ้นตาม เพราะตอนนี้โจทย์ถูก แต่ปฎิบัติไม่ได้ "อนาคตหลังจากนี้ สิ่งที่ต้องทำ ได้แก่ 1.แก้ปัญหาการขาดแคลนครู เร่งรัดพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรประจำการ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่ผลสำเร็จ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาครู โรงเรียนขนาดเล็กจะแย่ เนื่องจากขาดครูที่มีคุณภาพ 2.ต้องยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานทุกระดับ เพราะถ้าเอาผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) มาดู พบว่าโรงเรียนที่อยู่ในระดับดี และดีมาก มีไม่ถึงครึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศ อยู่ระดับดี และดีมากไม่ถึงครึ่ง
 
3.เร่งรัดกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา และเขตพื้นที่ตามหลักการบริหาร โดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน เร่งสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้แก่สถานศึกษา 4.ต้องพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุน ซึ่งการแจกแท็บแล็ตของรัฐบาลนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แจกหรือไม่แจก แต่อยู่ที่การเตรียมความพร้อมให้แก่ครู นักเรียน เพราะหากมีอุปกรณ์ เทคโนโลยี แต่ไม่รู้จักใช้ ก็ไม่คุ้มค่าถือ และ 5.การบริหารเชิงรุกต้องต่อเนื่องจริงจัง โดยมีผู้กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยน แต่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังขาดผู้กล้าตั้งแต่ระดับสถานศึกษา เขตพื้นที่ ส่วนกลาง ตลอดจนนักการเมือง ไม่มีผู้ที่เข้าใจการศึกษา และกล้าที่จะทำอย่างแท้จริง” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว
////////////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น