xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยดื่มเหล้ากลั่น ติดอันดับ 5 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งาน “เหล้าโลก” ครั้งแรก “วิทยา” เผยคนไทยอันดับ 5 ของโลก ดื่ม “เหล้ากลั่น” ด้านผู้เชี่ยวชาญโรคไม่ติดต่อจากอินเดียพบข้อมูล “เหล้า” มีส่วนให้เกิดโรคมะเร็ง

วันนี้ (13 ก.พ.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Conference : GAPC) ภายใต้หัวข้อ “จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น” ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก เครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ. 2555 ที่เมืองทองธานี โดยมีนักวิชาการทั้งภาคสาธารณสุข ภาครัฐ นักรณรงค์ต่างๆ เข้าร่วมกว่า 1,200 คนจาก 59 ประเทศ

โดยนายวิทยากล่าวในการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ ปัญหาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในประชากร ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามากกว่า 60 โรค เช่น เป็นสาเหตุเกิดโรคตับแข็ง สูงถึงร้อยละ 20-50 โรคติดต่อที่สำคัญ เช่น การเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ วัณโรค รวมทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ปีละ 2,500,000 คน

นายวิทยากล่าวว่า สำหรับประเทศไทย พบว่าคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่น ดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน เฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุการณ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90 โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

ด้านนพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ทาง นพ.อนาฟี อัสสาโม บา รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้แสดงความเป็นห่วงว่าแต่ละประเทศไม่ควรประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมสุราต่ำเกินไป เพราะอุตสาหกรรมนี้มีงบฯมหาศาล ทำให้มีอำนาจในการต่อต้านมาตรการต่างๆ หลักฐานทางวิชาการ เพื่อผลักดันนโยบายให้ไปในทิศทางที่อุตสาหกรรมสุราต้องการ เช่น การใช้ล็อบบี้ยิสต์ทำให้สังคมหลงเชื่อไปว่ามาตรการนโยบายแอลกอฮอล์จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นภาคประชาชนจึงควรมีส่วนสำคัญในการสร้างความโปร่งใสด้วย

“ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมครั้งนี้จะมีการออกประกาศเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปดำเนินการ ในส่วนของประเทศไทยเมื่อเสร็จการประชุมครั้งนี้แล้วจะมีการนำประเด็นต่างๆ ในการประชุมมาหารือกันเพื่อดูว่าประเทศไทยได้อะไรจากการประชุมนี้บ้าง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และเสนอแนวทางการดำเนินงานไปยังกระทรวงสาธารณสุขต่อไป” นพ.ทักษพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานมีการประชุมกลุ่มย่อย เรื่อง “แอลกอฮอล์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” โดย ดร.ซันดารัม อรุลราช (Dr.Sundaram Arulrhaj) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อของประเทศอินเดีย ให้ข้อมูลว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD ) ทั้งมะเร็ง หัวใจ ปอด เบาหวาน รวมถึงการเผาผลาญอาหารที่ไม่สมบูรณ์ด้วยนั้น โดยพบว่า 60% ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อพบว่า ล้วนมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารขยะ น่าสังเกตว่า อัตราการเสียชีวิตจะพบมากในผู้มีรายได้ต่ำ และพบว่าเพศหญิงมีการดื่มสุรามากขึ้นด้วย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ฯลฯ พบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นในเพศชาย 23% และเพศหญิง 18%

ดร.ซันดารัมกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ แม้แอลกอฮอล์จะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเกิดโรค แต่มีส่วนทำลายภูมิต้านทานของร่างกายได้ ส่วนจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่นั้น ในภาพรวมยังไม่มีรายงานวิชาการรองรับ แต่มีข้อมูลว่าผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 10 เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ เพราะกลไกการบริโภคนั้นจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ หากได้รับทั้งพิษจากเหล้า และสารนิโคติน โดยหากได้รับทั้งสองปัจจัยร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งด้วย นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาลดคุณค่าของสารอาหารที่บริโภคเข้าไป โดยบางคนอาจประสบปัญหาร่างกายซึมซับสารอาหารได้น้อยลง การเผาผลาญเป็นไปอย่างไม่ปกติ และก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคอ้วน ซึ่งนำไปสู่โรคความดัน โรคหัวใจ รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อสมอง ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง การตัดสินใจไม่ดี และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

“สำหรับตัวอย่างการเกิดผลกระทบจากแอลกอฮอล์ในอินเดีย พบว่า ผู้ที่ดื่มมากกว่า 5 แก้วต่อวัน จะเกิดโรคเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติ 2 เท่า และยังพบว่า 1 ใน 5 ของประชากรในอินเดียที่เป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลพบว่ามีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์”

ด้าน ศ.ดร.กิลเล็ม บอร์ก (Prof.Dr.Guilhermer Borges) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช มหาวิทยาลัยออโตโนม่า (Autonoma) ประเทศเม็กซิโก กล่าวว่า จากผลการวิจัยในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง ใต้ และเหนือ (PAHO) เมื่อปีที่ผ่านมา โดยการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 8,534 คน เพื่อดูผลการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า ร้อยละ 21 ระบุว่ามีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนได้รับอุบัติเหตุราว 6 ชั่วโมง และเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มพบว่า ผู้ที่ดื่มภายในระยะเวลาดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 4 เท่า

อนึ่ง นอกจากการจัดงานประชุมเชิงวิชาการแล้วยังมีกิจกรรมศึกษาดูงาน การป้องกันและการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย 6 แห่ง คือ 1. ชุมชนสันติอโศก เป็นชุมชนปลอดเหล้าและวิถีแนวพุทธ 2. ชุมชน หลังไปรษณีย์สำเหร่ เป็นชุมชนลดเลิกเหล้า คนต้นแบบเลิกเหล้า 3. ตลาดน้ำคลองลัดมะยม รูปแบบที่พ่อค้าแม่ค้ารวมใจปฏิบัติตามกฎหมาย 4. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศึกษาการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา กิจกรรมกลุ่มนิรนาม 5.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศึกษาฐานข้อมูลการเรียนรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด และ 6.บริษัท เอเชีย พรีซีชั่น จำกัด บริษัทต้นแบบพนักงานปลอดเหล้า เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ในด้านนโยบายแอลกอฮอล์
กำลังโหลดความคิดเห็น