ตรัง - สำนักงานสาธารณสุขตรัง สำรวจพบสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีมากถึง 1,000 ร้าน สั่งคุมเข้มการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 12 ฉบับ อย่างต่อเนื่องเพื่อสังคมที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันผลการสำรวจพบว่าคนไทยยังติดอันดับ 5 ของโลกที่ดื่มเหล้ากลั่น และการเสียชีวิตทางจราจรร้อยละ 90 เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์
นายวิรัช เกียรติเมธา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) จังหวัดตรัง ได้มีการสุ่มลงพื้นที่สำรวจสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันมีเปิดให้บริการเป็นจำนวนมากถึง 1,000 ร้าน หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา เช่น มีการดื่มเหล้าในวัด หรือร้านค้ามีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดเวลา เป็นต้น ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12 ฉบับ ทั้งอย่างเข้มงวดและอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะกฎหมายจำกัดสถานที่ เวลาดื่ม และอายุผู้ซื้อ ล่าสุดคือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในการดูแลและควบคุมร้านค้า หรือสถานที่จำหน่วยสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย มีการให้ความรู้แก่กลุ่มเยาวชน และประชาชนในจังหวัดตรัง รวมทั้งประสานการทำงานกับกลุ่มเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคประชาชน และหน่วยงานอื่นๆ ภายในจังหวัดตรัง เพื่อร่วมผลักดันให้มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาและอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ผลจากการที่งานส่งเสริมสุขภาพและควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เข้าร่วมประชุมนโยบายแอลกอฮอล์โลก " Global Alcohol Policy Conference :GAPC) เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้คนไทยขึ้นชื่อดื่มเหล้ากลั่นมากติดอันดับ 5 ของโลก และค่าเฉลี่ยดื่มเหล้าคนไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 9 เท่า หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก หรือเฉลี่ยดื่มเหล้าคนละ 6.13 ลิตร ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นอันตราย และเป็นสาเหตุให้เกิดมากกว่า 60 โรค เช่น โรคตับแข็ง โรคเอดส์ วัณโรค โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ถึงปีละ 2.5 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่า มีคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยมีผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 16.2 ล้านคน หรือเฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนและกลุ่มวัยทำงาน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี