“สุชาติ” เปิดห้องรับเด็กฝากโดยเฉพาะ เปลี่ยนชื่อ “แปะเจี๊ยะ” เป็น “เงินบริจาค” ชี้ การบริจาคมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ยันไม่รับฝากเด็ก ฝาก ร.ร.เก่งอย่างสวนกุหลาบ สตรีวิทยา เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้ ร.ร.ที่ยังด้อยคุณภาพ และเพิ่มจำนวน ร.ร.พี่ ร.ร.น้อง เป็น 2 เท่า
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนประจำจังหวัดทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษและผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างมอบนโยบายเรื่องรับนักเรียนปีการศึกษา 2555 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า มีคนถามตนมามากเกี่ยวกับเรื่องการรับนักเรียน ซึ่งตนอยากให้การรับนักเรียนมีความโปร่งใสเป็นธรรม มีคนมาฝากเด็กกับตนบ้างก็ประกาศชัดเจนไปว่าตนไม่รับฝากนักเรียน ให้จัดการไปตามระเบียบ เข้าใจว่ามีโควต้ารูปแบบต่างๆ อยู่ โควต้าในเขตพื้นที่ก็มีจำนวนหนึ่งก็ให้เอาคะแนนมาดูและจัดการตามนั้น
“มีคนถามผมเรื่อยๆ เรื่องแปะเจี๊ยะ ซึ่งผมเปลี่ยนชื่อเป็นเงินบริจาคแล้ว ฉะนั้นถ้าสถานศึกษาแห่งไหน บอกว่างบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดให้ไม่พอจะรับเงินบริจาคก็ประกาศให้โปร่งใส อาจจัดห้องเรียนในส่วนเพิ่มเติมไป แต่เด็กก็ต้องมีความสามารถพอสมควร ถ้าไม่มีความสามารถเลย ก็คงไม่ไหว เพราะฉะนั้นเด็กก็ต้องมีความสามารถพอสมควร มีห้องเรียนเฉพาะอีกห้อง และต้องเอาเงินบริจาคมากระจายให้ทั่วโรงเรียน เรื้องนี้ผมขอฝากกับผู้อำนวยการโรงเรียน ต่อไปจะไม่มีแปะเจี๊ยะ มีแต่การบริจาค สมัยดึกดำบรรพ์ในยุคกรีก การศึกษาจัดโดยการบริจาคเงินของคนพอมีฐานะ มีฉะนั้นแล้ว ทุกคนต้องจ้างครูเก่งๆ ไปสอนลูกตัวเองในบ้าน ซึ่งมีอยู่คนเดียวมันก็เป็นไปไม่ได้”ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขอฝากโรงเรียนเก่งๆ ให้ช่วยเพิ่มโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง เพราะปัจจุบันทุกคนแย้งกันเข้าโรงเรียนดัง เพราะฉะนั้นโรงเรียนกลุ่มนี้ เช่น โรงเรียนสวนกุหลายวิทยาลัย โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนสาธิตต่างๆ ควรจะเข้าไปช่วยดูแลโรงเรียนที่ยังด้อยคุณภาพและต้องการความช่วยเหลือให้มากขึ้น ขอให้เพิ่มจำนวนโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องเป็นสองเท่า เพราะจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า ยังมีโรงเรียนที่มีปัญหาด้านคุณภาพกว่าหมื่นโรง ที่เหลือสองหมื่นโรงก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ ขณะเดียวกัน ศธ.จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษามากขึ้น ทุกโรงเรียนต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย Wi-Fi ซึ่งขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กำลังเร่งติดตั้งให้อยู่ แต่หากดำเนินการไม่ทันใจ ศธ.จะใช้งบประมาณของตัวเองไปดำเนินการเอง เพราะ Wi-Fi จะรองรับแท็บเล็ตที่จะซื้อ 900,000 แสนเครื่อง เพื่อแจกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยในส่วนของนักเรียนจะได้ประมาณ 850,000 เครื่อง และขอย้ำว่าแท็บเล็ตจะให้นักเรียนเอากลับไปใช้ที่บ้านด้วย
ถ้าให้ยืมเรียนเฉพาะตอนกลางวันก็จะเหมือนสมัยที่ตนเป็นนักเรียน ที่มีการให้ยืมตำราเรียน เฉพาะเวลากลางวันกลางคืนก็ไม่รู้จะทำอะไร ส่วนที่ห่วงว่าถ้าให้เด็กนำแท็บเล็ตกลับบ้านไปเด็กจะทำให้เครื่องเสียหายนั้น ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงก็ต้องจัดหาเครื่องใหม่ทดแทนให้เด็ก บอกแล้ว่านโยบายใหญ่ของเราคือ ดูแลลูกหลานประชาชนเหมือนลูกหลายของตัวเอง แต่ถ้าเสียหายจากกรณีอื่น เช่น เด็กทำเครื่องตกกรณีนี้ผู้ปกครองอาจต้องรับผิดชอบ
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตนขอฝากโรงเรียนให้ความสำคัญกันการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนด้วย โดยในวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์นี้ ตนจะเดินทางไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ซึ่งจะมีการลงนามในข้อตกลงพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน โดยรัฐบาลจีนจะส่งครูจีนจำนวน 5,000 คน มาช่วยสอนในโรงเรียนของไทย และให้ทุนครูไทยไปพัฒนาการเรียนการสอนอภาษาจีน ที่ประเทศจีน อีก 1,000 ทุน ส่วนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้น จะมีการจัดหาครูจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ หรืออย่างน้อยต้องเป็นครูที่จบเอกอังกฤษโดยตรงมาสอนเด็กซึ่งตนกำลังหารือกับ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่า ถ้าจำเป็น อาจจะมีการให้รับชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กมาอบรมวิธีการสอนเพื่อให้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะบางโรงเรียนไม่มีความสามารถที่จะจัดจ้างครูชาวต่างชาติได้จริงๆ ทำให้โอกาสของเด็กแต่ละโรงเรียนไม่เทียมกัน
“ผมยังเห็นด้วยกับการเลื่อนเปิดเทอมให้สอดคล้องกับประเทศอาเซียน เพราะปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากจัดการเรียนการสอนในระบบบอินเตอร์อยู่แล้ว ก็สมควรเลื่อนการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาให้ตรงกับประเทศอาเซียน ไม่เช่นนั้นนักเรียนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศก็จะเสียเวลาเรียนไปอีก 1 ปี”ศ.ดร.สุชาติ กล่าว
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบาย รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้โรงเรียนดังเปิดห้องเรียนเพิ่มเติมเพื่อรับเด็กของผู้บริจาคเงินให้โรงเรียนนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนสารจากคำว่า “แป๊ะเจี๊ย” ให้ดูดีขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงจะไม่มีวันโปร่งใส เพราะโดยธรรมชาติของระบบเช่นนี้ไม่เคยเกิดความโปร่งใสได้ สุดท้ายก็จะเกิดการวิ่งเต้นฝากเด็ก มีการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่เรียน เงินที่เรียกมาจากผู้ปกครองก็คงไม่เข้าโรงเรียน และสุดท้ายการรับเด็กจะกลายเป็นสีเทาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น จะต้องระมัดระวังให้มาก
“ถ้าทำแบบนั้นจะเกิดความไม่ตรงไปตรงมาอย่างแน่นอนและตรวจสอบยากด้วย เกิดขบวนการนายหน้าวิ่งฝากเด็ก รวมทั้งเป็นการเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจการเมืองหรือการเงินแทรกแซงการรับนักเรียนได้ เกิดความเหลื่อมล้ำ ผู้ในอำนาจการเมือง หรือผู้ที่มีฐานะการเงินที่ดี จะได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ พูดเรื่อง 2 มาตรฐาน พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ มาตลอด ทำอย่างนี้ก็เท่ากับกลืนน้ำลายเสียเอง ขอย้ำว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งปัน เอาเงินบริจาคคนรวยมากระจายในโรงเรียน แต่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องของความอยุติธรรมในสังคม “ รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีในหมู่นักเรียนด้วย นักเรียนทั่วไปจะรู้สึกว่า นักเรียนที่เข้าด้วยโควตาบริจาคเงินเป็นพวกอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องพลาดโอกาสเข้าโรงเรียนดังเพราะถูกเด็กกลุ่มบริจาคเบียดที่นั่งนั้น อาจรู้สึกรุนแรงกับเด็กกลุ่มนี้ได้