xs
xsm
sm
md
lg

แป๊ะเจี๊ยะกับการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

มีข่าวว่ารัฐมนตรีศึกษาฯ จะให้มีการบริจาคเงินบำรุงโรงเรียนได้ แต่ไม่ได้บอกว่า หากบริจาคแล้วจะได้สิทธิพิเศษเข้าโรงเรียนไหม ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะเวลานี้วิธีการเอาเด็กเข้าเป็นกรณีพิเศษได้พัฒนารูปแบบใหม่ไปแล้ว คือไม่มีใครเอา "แป๊ะเจี๊ยะ" ไปให้โรงเรียนกันตรงๆ แต่เขาจะอาศัยสมาคมนักเรียนเก่าเป็นตัวกลาง สมัยหนึ่งมีข่าวว่าจะเข้าโรงเรียนทีหนึ่ง ก็ต้องจ่ายเงินเป็นล้าน โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิตทั้งหลาย มีข้อสงสัยว่าโรงเรียนสาธิตได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ให้ลูกอาจารย์และเจ้าหน้าที่เข้าได้เป็นพิเศษ จัดเป็นสวัสดิการ จะถูกต้องหรือไม่

การที่มีผู้เต็มใจเสียเงินแสนสองแสนให้โรงเรียนนั้น ก็เพราะที่จริงแล้ว โรงเรียนดีๆ เก็บค่าเล่าเรียนน้อยเกินไป ครูก็ได้เงินเดือนน้อย ครูไทยโดยปกติจะได้เงินเดือน 2-3 หมื่นบาท หลังจากสอนมาสิบปี ส่วนครูฝรั่งโรงเรียนนานาชาติ จะได้ราวๆ แสนกว่าบาท วิธีหาครูของโรงเรียนนานาชาติ เขาจะไปคัดเลือกกันที่อังกฤษ ครูอังกฤษเก่งๆ มีมาก พวกนี้นิยมไปทำงานที่แอฟริกาใต้บ้าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์บ้าง มาระยะหลังๆ ก็ไปอยู่ตะวันออกกลางก็แยะ ตอนนี้มาอยู่เมืองจีนเป็นจำนวนมาก

สมัยก่อนครูอังกฤษมาอยู่โรงเรียนในอินเดีย พวกคอนแวนต์ก็มีตามเมืองตากอากาศบนภูเขาอย่างที่เมืองดาร์จีลิ่ง และซิมลา เป็นต้น

โรงเรียนเหล่านี้ใช้หลักสูตรแบบอังกฤษ จนชั้นมัธยมก็สอน Senior Cambridge ที่ดีก็เพราะหลักสูตร ตำรา และครูดี สังเกตว่าเขาให้เรียนไม่กี่วิชา ผิดกับไทยเราให้เด็กเรียนแยะไปหมด

โรงเรียนจะดีมาก-น้อยนั้นเป็นเพราะครู ครูที่อังกฤษจบ Oxford, Cambridge หลายคน ครูเก่งๆ อาจได้รับเลือกไปเป็นครูของเจ้าชายหรือเจ้าหญิง สอนกันเป็นส่วนตัวเลย

ผมเคยเรียนกับครูฝรั่งหลายคน ตั้งแต่ชั้นมัธยม ถ้าเป็นครูสอนภาษาอังกฤษก็จะไม่เน้นการสอนไวยากรณ์ แต่จะเป็นการสนทนา ย่อความ และที่สำคัญก็คือให้แต่งเรียงความ การเขียนเรียงความทำให้เราต้องใช้ความคิด เทียบกับครูไทยของผม เขียนเรื่อง The Cat กับ The Dog ลงบนกระดานดำ แล้วให้พวกเราท่อง พอสอบเราก็เขียนจากความจำไป

ผมพบครูไทยดีๆ เป็นครูฝึกสอน ตอนนั้นครูอยู่ปี 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปสอนพวกเรา สอนภาษาไทยด้วยการให้พวกเราเล่นออกหนังสือพิมพ์ประจำห้อง พวกชอบวาดรูปก็วาดการ์ตูนไป ที่ชอบเขียนก็เขียนไป เป็นการเรียนที่สนุก สมัยต่อมาเรียกกันว่า Constructionism คือเรียนรู้จากการทำด้วยตนเอง นับว่าเป็นวิธีการที่แยบยลกว่าการให้เขียนเรียงความ เพราะทุกคนจะดีใจเมื่อเห็นหนังสือออกมาเป็นรูปเล่ม ครูฝึกสอนผู้นั้นชื่อ ครูบำรุงสุข สีหอำไพ ต่อมาด้วยความชอบ ครูจึงไปก่อตั้งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เวลานี้ผมพบภรรยาของครู บอกว่ามีรูปปั้นครูครึ่งตัว ติดอยู่หน้าคณะนิเทศศาสตร์

ปัจจุบันเรามีเครื่องมือมากขึ้น ผมได้สนับสนุนให้เปิดวิชาการออกแบบและเทคโนโลยีขึ้นในโรงเรียนได้ หาคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบได้ ผมคิดว่าการที่เด็กจะมีแท็บเล็ตนั้นก็ดี แต่สิ่งสำคัญคือการใช้ประโยชน์ เด็กควรได้รับการฝึกให้คิดอย่างสร้างสรรค์ด้วย

ตอนอยู่วชิราวุธฯ กิจกรรมการเรียนรู้มีมากมาย ชมรมถ่ายภาพมืออาชีพก็เป็นที่นิยม สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องจัดให้มีนิทรรศการภาพถ่ายด้วย การมีเครื่องถ่ายวิดีโอก็เป็นการช่วยการเรียน เพราะเราส่งเสริมให้เด็กได้ทำหนังสั้น เด็กเขียนบท กำกับ ถ่ายทำ ตัดต่อเอง มีนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ หลายคนเป็นคนทำภาพยนตร์ ก็ได้เข้ามาให้คำแนะนำแก่เด็กๆ

ครูหลายคนมีความเชี่ยวชาญในการสอนมาก แต่มีข้อด้อยตรงที่ครูไม่เคยได้ออกไปรับรู้โลกภายนอกเลย มีแต่สอนอย่างเดียวทำให้โลกแคบ ครูจำเป็นต้องออกไปเห็นความเป็นไปของโลก และมีความรู้รอบตัวมากๆ สังเกตว่าครูต่างประเทศ นอกจากสอนแล้วยังเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นละครเวทีอีกด้วย

เราควรให้งบประมาณสำหรับพัฒนาครูมากขึ้นกว่านี้ โรงเรียนแต่ละโรงเรียนควรมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน หาไม่แล้วโรงเรียนไทยก็จะล้าหลังไปเรื่อยๆ ทำให้เด็กไทยมีมาตรฐานต่ำกว่าชาวโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น