รมช.สธ.เปิดประชุมทำแผนปราบ “วัณโรคระดับโลก” ตั้งเป้าลดตายทุกประเทศลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2558 ชี้ มีปัญหาดื้อยา ต้องเร่งพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่โรงแรมสวิส โซเทล กทม. นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไรฟัต อตุน (Dr.Rifat Atun) ประธานคณะกรรมการบริหารพันธมิตรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคระดับโลก (Stop TB Partnership) เปิดประชุมคณะกรรมการบริหารพันธมิตรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคครั้งที่ 21 (21st Stop TB partnership coordinating board) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อจัดทำแผนปราบวัณโรคระดับโลก มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจาก 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงสุดทั่วโลก ประชุม 70 คน
นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ที่รักษาหายได้ ผู้ป่วยส่วนใหญกว่าร้อยละ 85 เป็นวัณโรคปอด โรคนี้หากป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเสียชีวิต โดยในปี 2553 ทั่วโลกพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 8.8 ล้านคน และเสียชีวิต 1.4 ล้านคน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาการรักษาผู้ป่วยวัณโรคมีพัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับ มีผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาหายขาดแล้ว 46 ล้านคน ในจำนวนนี้มากกว่า 6.8 ล้านคนรักษาหายภายใต้กลวิธีดอทส์ (DOTS) หรือรักษาแบบมีพี่เลี้ยงกำกับดูแลใกล้ชิด ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
สำหรับในไทย สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี มีผลทำให้ปัญหาวัณโรคปะทุขึ้นอีก คนที่ติดเชื้อเอชไอวี มีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคสูงกว่าคนปกติถึง 37 เท่า โดยพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยวัณโรคที่เสียชีวิต ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดขึ้นทะเบียนรักษามากกว่า 64,000 ราย อัตราการรักษาหายขาดร้อยละ 86
นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า การควบคุมวัณโรคขณะนี้ มีปัญหาท้าทายหลายประเด็น เช่น การแพร่ระบาดของวัณโรคดื้อยาซึ่งรักษายาก ความต้องการการวินิจฉัยเชื้อโรคที่รวดเร็วเหมือนโรคเอดส์และมาลาเรีย การพัฒนาวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ การประชุมในครั้งนี้พันธมิตรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคทั่วโลก จะเน้นการจัดทำแผนงานในปี 2555 เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายของแผนงานหยุดยั้งวัณโรค ระดับโลก (The Global Plan to Stop TB) ตั้งเป้าภายในปี 2558 จะลดจำนวนการตายจากวัณโรคของแต่ละประเทศลงให้ได้ครึ่งหนึ่งของปี 2533
นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า หนทางการต่อสู้กับวัณโรคให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องประกอบด้วยหลายมาตรการ ได้แก่ ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ การเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาพยาบาลผู้ป่วย การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค นอกจากนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม และการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้นำชุมชน ร่วมแก้ไขปัญหา
สำหรับพันธมิตรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคเป็นคณะกรรมการระหว่างประเทศ มีหน้าที่ในการเร่งรัด กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในการต่อสู้กับวัณโรค โดยทำงานใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลกและเครือข่ายต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันเครือข่ายมีสมาชิกเกือบ 1,000 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรวิชาการระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัยและสนับสนุนทุน มูลนิธิต่างๆ องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรค และองค์กรเอกชน ประเทศไทยได้พัฒนาเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคตั้งแต่ปี 2553 ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเครือข่ายในประเทศ เพื่อร่วมมือและประสานกิจกรรมกับโครงการป้องกันและควบคุมวัณโรคของประเทศ โดยมีสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลัก