xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 5 กลุ่มโรคเฝ้าระวังปี 55 เตรียมรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ
คร.เผยโรค 5 กลุ่ม ต้องจับตาเฝ้าระวังในปี 55 เตรียมรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันสุขภาพเชิงบูรณาการ หลังพบสารพัดโรครุมเร้าปี 54 ทั้งทางเดินหายใจ-ทางเดินอาหารและโรคจากสัตว์ จากแมลง

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์การป้องกันและรับมือเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นใน ปี 2555 ว่า เนื่องจากสถานการณ์สุขภาพในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งจากการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร และการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ดังนั้น โอกาสที่ประชาชนจะเสี่ยงต่อการเผชิญโรคภัยก็ต้องมีมากขึ้นด้วย โดยกลุ่มโรคที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทางกรมฯ ต้องเฝ้าระวังและรณรงค์ให้ประชาชนมีการป้องกันตัวเองอย่างบูรณาการมีทั้งหมด 5 กลุ่มโรค คือ 1.โรคระบบทางเดินหายใจ อันได้แก่โรคไข้หวัดใหญ่ 2.โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ ไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส และไข้หวัดนก 3.โรคหูดับ 4.โรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ และ 5.โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออกทั้งแบบธรรมดาและแบบรุนแรง โรคมาลาเรีย จึงอยากให้ประชาชนได้มีการติดตามสถานการณ์การรายงานของกรมฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปฏิบัติตาคำแนะนำอย่างถูกต้อง
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า อุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดในปี 2554 (1 ม.ค. - 16 ธ.ค.) พบผู้ป่วย 50,000 รายจากเดิมที่เคยมีถึง 100,000 ราย เสียชีวิต 7 ราย มีอัตราป่วยลดลงกว่าครึ่ง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะโรคนี้เกิดขึ้นในกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายที่มักพบในกลุ่มแรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่มีอากาศหนาวจัด และเกิดการระบาดมากที่สุดโดยมีอัตราป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ 135 รายต่อแสนประชากร สำหรับโรคระบบทางเดินอาหารที่พบในประเทศไทยส่วนมากเป็นอาหารเป็นพิษ โดยในปี 2554 (1 ม.ค. - 14 พ.ย. )พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 85,712 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 134 รายต่อแสนประชากร เสียชีวิต 3 ราย พื้นที่ที่พบป่วยมากที่สุดได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ย 206 รายต่อแสนประชากร และพบน้อยที่สุดในภาคใต้มีอัตราป่วยเฉลี่ย 42 ราย ต่อแสนประชากร ซึ่งทาง สธ.ต้องเฝ้าระวังการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สะอาดของประชาชน ใช้ภาชนะที่สกปรก ดังนั้น ต้องรณรงค์เรื่องของการบริโภคให้พิถีพิถันมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์โรคไข้หวัดนกนั้นแม้ไทยไม่พบการระบาดแต่ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีการระบาดอยู่จึงต้องเฝ้าระวังด้วย ส่วนโรคไข้ฉี่หนู ถือว่ายังต้องพัฒนาแผนการเฝ้าระวังให้มากขึ้น โดยปี 2554 (1 ม.ค. - 14 ธ.ค.)พบระบาดอยู่ที่ 3,699 ราย เสียชีวิต 66 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเฉลี่ย 5 รายต่อแสนประชากร พบมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบป่วยเฉลี่ย 11 รายต่อแสนประชากร และภากลางพบป่วยน้อยสุด คือ มีอัตราป่วยเฉลี่ย 0.67 ราย ซึ่งกรมฯ ต้องเร่งดำเนินการณรงค์ให้ประชาชนมีการป้องกันอย่างถูกต้อง

นพ.ภาสกรกล่าวต่อว่า สำหรับอัตราการป่วยโรคหูดับหรือ โรคติดเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส นั้นสถิติล่าสุดเป็นปี 2553 พบผู้ป่วย 185 ราย เสียชีวิต 12 ราย โดยพบมากในช่วงฤดูร้อน และที่น่าห่วงคือ โรคนี้เกิดขึ้นแบบฉับพลันหากติดเชื้อรุนแรงก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยโรคหูดับเกิดจากการบริโภคอาหารดิบแล้วติดเชื้อ เช่น ลาบ ลู่ หรือหมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรีย สเตปโตค๊อกคัสฯ ที่สามารถเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรืออาจเกิดติดเชื้อในกระแสโลหิตจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด ทั้งนี้ เชื่อว่า ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตกรายงานจากภาคท้องถิ่นอยู่มาก เพราะอาจเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุและแพทย์อาจไม่ได้วินิจฉัย

สำหรับโรคติดต่อนำโดยแมลงนั้น ได้แก่ ไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย ซึ่งมีพาหะจากยุง โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกนั้นมี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคไข้เลือดออกทั่วไปมีรายงานผู้ป่วยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 13 ธ.ค. 2554 พบผู้ป่วย 63,971 ราย เสียชีวิต 59 ราย และไข้เลือดออกชนิดรุนแรง พบป่วย 1,214 ราย เสียชีวิต 43 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่สถานการณ์ไข้มาลาเรียพบป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ (1 ม.ค. - 19 ธ.ค. 2554 ) จำนวน 19,524 ราย ซึ่งในปี 2555 คงต้องเน้นเรื่องการกำจัดพาหะของโรค นั่นคือ ยุงลายและยุงก้นปล่อง” นพ.ภาสกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น