สธ.เตือนนักเดินป่า นอนกางเต็นท์กลางป่า ระวังโรครุมเร้า “สครับไทฟัส-มาลาเรีย” แนะสวมเสื้อผ้ามิดชิด หลังจากเสร็จภาระกิจควรต้มเสื้อผ้าฆ่าเชื้อ
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีอากาศเย็น ฟ้าโปร่ง นักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมไปกางเต็นท์นอนตามป่า หรือนอนดูดาวกลางแจ้ง โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาในภาคเหนือ ขอให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนที่อยู่ตามป่ากัด จนได้รับเชื้อเชื้อริกเกทเซีย ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไรเมื่อถูกกัดจะมีแผลไหม้คล้ายกับโดนบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆ แผลจะแดง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ นอกจากนี้ ยังให้ระวังอย่าให้ถูกยุงก้นปล่องกัด เพราะอาจป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่มียารักษาหายขาด ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัวจากโรคทั้งสอง
สำหรับการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกงปิดทางเข้าของไรมายังร่างกาย ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก ต้องรีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้ ผู้ที่จะนอนแคมป์ตามป่าเขา ควรเตรียมมุ้งหรือเต็นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุงได้ และทายากันยุง ป้องกันยุงกัด โดยในการทายากันยุงต้องทาบริเวณที่มีโอกาสจะถูกยุงกัด ได้แก่ แขน ขา ใบหู หลังคอ และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า
จากรายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2554 พบมีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส 5,721 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 63 พบในภาคเหนือ มากที่สุด คือ จ.น่าน เชียงราย และตาก รองลงมาคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนโรคมาลาเรียในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 17,636 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 11,150 ราย ภาคใต้ 3,028 ราย ภาคกลาง 2,694 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และยะลา 608 ราย