น้ำท่วมปีนี้ เรียกได้ว่าเป็น “มหาอุทกภัย” ที่รุนแรง และแผ่ขยายลามไปทั่วในหลายจังหวัด ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำที่เน่าขังและส่งกลิ่นเหม็นเป็นแรมเดือน และนอกจากจะเน่าเหม็นแล้ว ยังเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากมาย ที่นำพาสารพัดโรคร้ายมาให้ ทั้งในช่วงที่น้ำ ท่วม และหลังน้ำท่วม
มาดูดีกว่าว่าโรคร้ายต่างๆนานาที่ว่านี้ มีโรคอะไรบ้าง
1. โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า จากเชื้อรา แผลพุพอง เป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน
อาการ
• ในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง
• ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น
• ระยะหลังๆผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและ แตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้
การป้องกัน
• ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น
• ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งเมื่อกลับเข้าบ้าน
• สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น
• หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ หรือเบตาดีน
2. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ตับอักเสบเอ และไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
การติดต่อ
เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือ ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม และค้างคืนไม่ได้แช่เย็นหรือไม่ได้อุ่นให้ร้อนที่อุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส
อาการ
โรคอุจจาระร่วง มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการรุนแรงโดยถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว คราวละมากๆ เรียกว่า อหิวาตกโรค
อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้อง ร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
โรคบิด มีอาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการเรื้อรัง
โรคไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสียได้
การรักษา
• ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ผสมน้ำตามสัดส่วน ที่ระบุข้างซอง หรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม หรือ 750 ซีซี ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการขับถ่าย
• หากมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชัก หรือซึมมาก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
• เด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มต่อได้ตามปกติ พร้อมป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
• เด็กที่ดื่มนมผง ให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป
• ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
การป้องกัน
• ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อน เตรียมและปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
• ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกกินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ และเก็บอาหารในภาชนะมิดชิด
• กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
3. โรคระบบทางเดินหายใจ
ไข้หวัด
เป็นโรคที่ติดต่อไม่อันตราย เกิดจากเชื้อไวรัส ก่อโรคในบุคคลทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสิ่งของใช้ของผู้ป่วย
อาการ
• มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้เล็กน้อย
• คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ จาม
• ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
• มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
ไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดโรคได้ในคนทุก เพศทุกวัย เชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย น้ำมูก และสิ่งของใช้ของผู้ป่วย จึงมีโอกาสติดต่อกันได้ง่าย
อาการ
• มักมีไข้สูง ปวดศีรษะ
• ปวดเมื่อยตามตัวมาก
• มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย
การปฏิบัติตัว
• ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บุคคลอื่น
• ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษนุ่มสะอาด เช็ดน้ำมูก และไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดหูอักเสบได้
• กินอาหารที่อ่อนย่อยง่าย กินผักและผลไม้ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
• อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น แล้วเช็ดตัวให้แห้งทันที
• เมื่อไข้สูง หรือเป็นไข้นานเกิน 7 วัน เจ็บคอ ไอมาก เจ็บหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบหรือปรึกษาแพทย์
โรคปอดบวม
เกิดจากเชื้อได้หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทำให้มีการอักเสบของปอด ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หากมีการสำลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสเป็นปอดบวมได้
การติดต่อ
ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยเมื่อ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อ่อนแอ พิการ มักพบเกิดจากการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูกและลำคอเข้าไปในปอด
อาการ
• มีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว
• ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึม
• เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวม ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด, หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด, ปอดแตกและมีลมรั่วในช่องปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในผู้ป่วยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวายได้
การปฏิบัติตัว
• ต้องรีบพบแพทย์ และรับการรักษาในโรงพยาบาล
• ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น
• หากมีไข้ ให้กินยาลดไข้ และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้
• กินอาหารที่อ่อนย่อยง่าย กินผักและผลไม้ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
• ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
4. โรคตาแดง
เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
การติดต่อ
• จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย
• จากการใช้เครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ หรือแมลงวันแมลงหวี่ตอมตา
อาการ
• หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง
• ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว
การปฏิบัติตัว
• เมื่อมีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
• เมื่อมีอาการของโรค ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยใช้ติดต่อกันประมาณ 7 วัน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ
• หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ
• ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก
• ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกัน และไม่ควรไปในที่มีคนมากเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด
• ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการไม่ทุเลาภายใน 1 สัปดาห์ ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง
5. โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ พบได้ทุกวัย และทั่วทุกภาคของประเทศไทย
อาการ
• ไข้สูงลอย (ไข้สูงตลอดทั้งวัน) ประมาณ 2-7 วัน
• ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ตามลำตัว แขน ขา
• มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร
• ต่อมาไข้จะเริ่มลง ในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ หรือไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อค และถึงเสียชีวิตได้
การปฏิบัติตัว
• ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
• ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้
• ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจะทำ ให้เลือดออกง่ายขึ้น
• ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
การป้องกัน
• อย่าให้ยุงกัดตอนกลางวัน โดยนอนกางมุ้ง ทายากันยุง
• กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ ทำลาย หรือคว่ำภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง
6. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้นดินที่ชื้นแฉะได้นาน
การติดต่อ
เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรือติดเชื้อจากรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด
อาการ
• มักเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง
• บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน
• หากมีอาการดังกล่าวหลังจากที่สัมผัสสัตว์ หรือลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ทันที
• ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิว หนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้
การป้องกัน
• ควรสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล
• หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด
• รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันที และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
• ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู
• เก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ“คู่มือคำแนะนำการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม” กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย กองบรรณาธิการ)