xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนตามลุ่มน้ำชี-มูล ยังแขวนบานระบาย เพื่อลดระดับน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝายธาตุน้อย
อุบลราชธานี - เขื่อนตามลุ่มน้ำชี -มูล ยังแขวนบานระบาย เพื่อลดระดับน้ำท่วมด้านสำนักงานสาธารณสุข จ.อุบลราชธานี จัดชุดเคลื่อนที่เร็วสำรวจ รักษา แนะนำวิธีป้องกันโรคมากับน้ำท่วม หลังพบสถิติผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงนี้

วันนี้ (14 ต.ค.) สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งยังมีน้ำไหลท่วมชุมชนในตัวจังหวัดนานกว่า 2 เดือน โดยวันนี้ระดับน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตยสูงขึ้นจากเมื่อวาน 3 เซนติเมตร จึงมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.73 เมตร โดยมีผลมาจากมีน้ำเหนือไหลมาจากแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีตอนบน รวมทั้งในพื้นที่มีฝนตกเป็นระยะ ทำให้เขื่อนปากมูลซึ่งรองรับน้ำจากแม่น้ำมูล และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำโขง อ.โขงเจียม 3 กิโลเมตร ยังต้องเปิดประตูระบายน้ำต่อไป

สำหรับเขื่อนปากมูล ครม.มีมติให้เปิดประตูระบายน้ำระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค.ทุกปี เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงว่ายขึ้นมาวางไข่ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดอุบลราชธานี จึงยังไม่มีมติให้ปิดประตูเขื่อนในระยะนี้

ปัจจุบันเขื่อนปากมูลมีอัตราน้ำไหลผ่าน 1,994.70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนฝายธาตุน้อย อ.เขื่องใน ที่รับน้ำจากแม่น้ำชี ก่อนไหลลงแม่น้ำมูลที่ อ.วารินชำราบ ปัจจุบันมีอัตราน้ำไหลผ่าน 1,287.34 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดว่าอิทธิพลของพายุฝนตลอดสัปดาห์นี้ จะไม่ส่งผลให้ระดับแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง สูงขึ้นจนรับมือไม่ไหว

ด้าน นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกล่าวถึงการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมในระยะนี้ หลังพบสถิติการระบาดของโรคต่างๆ มากขึ้น โดยแนะนำว่าสำหรับโรคติดต่อทางเดินอาหารทั้งโรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษและตับอับเสบจากไวรัสเอ โรคเหล่านี้ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป เมื่ออยู่ในพื้นที่น้ำท่วมควรระวังอย่าให้น้ำสกปรกเข้าปาก ไม่ควรนำน้ำมาล้าง ภาชนะ ถ้วยชาม หรือผักผลไม้ ควรดื่มน้ำต้ม น้ำฝน หรือน้ำที่ใส่คลอรีนแล้ว

รับประทานอาหารสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ถ่ายอุจจาระในส้วม หรือในหลุมแล้วกลบ ไม่ถ่ายลงในน้ำ ขยะหรือของเสียที่เปียกแฉะ ควรใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่น แล้วทิ้งในถังรองรับ ล้างมือให้สะอาดหลังการถ่ายอุจจาระและก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เมื่อมีอาการอุจจาระร่วงให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) จนอาการเป็นปกติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือดรีบปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน

ส่วนโรคผิวหนังที่สำคัญทั้งโรคน้ำกัดเท้า หรือเท้าเปื่อย ในระยะแรกผิวหนังจะอักเสบจากความเปียกชื้น และการระคายเคืองจากความสกปรก ต่อมาเมื่อผิวลอกเปื่อยนานๆ เพราะมีสาเหตุจากเชื้อราที่เจริญได้ดีบริเวณซอกผิวหนังที่อับชื้น อาการจะเริ่มด้วยตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า มีอาการคันมากจนแตกเป็นแผล จะทำให้เกิดอาการอักเสบจากการติดเชื้อแทรกซ้อน

สำหรับการป้องกัน หลังจากย่ำน้ำแล้วควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามง่ามเท้า อาจโรยด้วยแป้งฝุ่น ถ้าต้องเดินย่ำน้ำ ควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อ หากมีอาการเท้าเปื่อยควรทาด้วยขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

สำหรับโรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป หรือใช้สิ่งของภาชนะร่วมกับผู้ป่วย ผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ตรากตรำ และอยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อาจมีอาการไอร่วมด้วย

การป้องกัน ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงและอบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เปียกชื้นนานเกินไป

โรคตาแดงเกิดจากน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง ปวดแสบตา น้ำตาไหลมาก การป้องกัน เมื่อน้ำสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด เนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำตา ขี้ตา และน้ำมูกของผู้ป่วย พร้อมหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ที่อาจปนเปื้อนเชื้อร่วมกับผู้ป่วย เช่นผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์

สำหรับโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของตับและไต ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อน่องมาก ตาแดง ต่อมามีอาการตัวเหลือง และอาจบวมบริเวณหลังเท้าและหนังตา ติดต่อโดยเชื้อโรคที่มากับปัสสาวะของหนูที่อยู่ในน้ำแล้วไซเข้าสู่ผิวหนัง การป้องกัน เมื่อจะต้องย่ำน้ำควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อ กำจัดหนูที่เป็นพาหะนำโรค ถ้ามีอาการของโรคนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะสามารถทำให้เสียชีวิตได้

ด้านอาการป่วยจากสัตว์มีพิษกัดต่อยทั้ง งู และสัตว์มีพิษต่างๆ เบื้องต้นหลังถูกต่อย หรือกัดโดยสัตว์มีพิษใช้ผ้าหรือสายยางรัดเหนือบริเวณแผลให้แน่น แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที รวมทั้งคลายผ้าหรือสายยางที่รัดออกเป็นระยะทุก 10 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้บ้าง

ส่วนผู้ที่ถูกวัตถุของมีคมตำ หรือบาด ทั้งจากเศษหนาม ตะปู เศษแก้ว หรือกระเบื้อง ให้รีบทำแผลเบื้องต้น ก่อนไปขอรับการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปสู่บาดแผล จนลุกลามทำให้เกิดอันตรายตามมาภายหลัง

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โทรศัพท์ 0-4526-2692-700 หรือที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ฝายลำเซบก
อบจ.เยี่ยมที่พักพิงผู้ประสบภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น