xs
xsm
sm
md
lg

พิษน้ำท่วม! ทำชาวอุบลฯป่วยตาแดงกว่า 3,600 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
อุบลราชธานี -สสจ.อุบลราชธานี เตือนประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วม หรือต้องสัมผัสน้ำท่วมขัง ระวังป่วยด้วยโรคตาแดง รวมทั้งระบบทางเดินอาหาร เพราะพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวจำนวนมาก

นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างถึง 16 อำเภอ 81 ตำบล 649 หมู่บ้าน หลังเจ้าหน้าที่ออกสอบสวน พบว่า สถานการณ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงเกิดอุทกภัย คือ โรคตาแดง มีผู้ป่วยถึง 3,608 คน คิดเป็นอัตราป่วย 200.03 ต่อแสนประชากร โรคอาหารเป็นพิษ 5,191 คน คิดเป็นอัตราป่วย 287.79 ต่อแสนประชากร โรคเลปโตสไปโรซิส 34 คน คิดเป็นอัตราป่วย 1.88 ต่อแสนประชากร

โรคปอดบวม 5,308 คน คิดเป็นอัตราป่วย 294.28 ต่อแสนประชากร โรคไข้หวัดใหญ่ 802 คน คิดเป็นอัตราป่วย 44.46 ต่อแสนประชากร และไข้ไม่ทราบสาเหตุ 6,842 คน คิดเป็นอัตราป่วย 379.32 ต่อแสนประชากร โดยเป็นสถิติการระบาดวิทยาจำแนกตามกลุ่มโรคระหว่างวันที่ 1 มกราคม -21 กันยายน 2554

ส่วนการป้องกันโรคติดต่อได้จัดการควบคุมแมลงที่เป็นพาหะนำโรค การจัดหน่วยบริการสุขภาพ การให้วัคซีนในบางโรค เพื่อให้มีความครอบคลุม ลดโอกาสเกิดการระบาดในพื้นที่ เมื่อเกิดการระบาดจะส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเข้าพิสูจน์สอบสวนโรค เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.สุรพร กล่าวต่อไปว่า เพื่อป้องกันภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นทั้งระยะก่อนเกิดอุทกภัย ระยะเกิดอุทกภัยและระยะฟื้นฟูสภาพ ขอแนะนำให้ประชาชนได้รู้จักโรคและภัยที่กิดขึ้นในภาวะน้ำท่วม ประกอบด้วย โรคติดต่อทางเดินอาหารคือ โรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และตับอับเสบจากไวรัสเอ

โดยโรคเหล่านี้ ติดต่อจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ควรดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำที่ใส่คลอรีนแล้ว

รับประทานอาหารสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม ถ่ายอุจจาระในส้วม หรือในหลุมแล้วกลบ ไม่ถ่ายลงในน้ำ ของเสียที่เปียกแฉะควรใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่น แล้วทิ้งในถังรองรับ ล้างมือให้สะอาดหลังการถ่ายอุจจาระและก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เมื่อมีอาการอุจจาระร่วงควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) จนอาการเป็นปกติ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือดรีบไปพบปรึกษาแพทย์

ส่วนโรคผิวหนังที่สำคัญ คือ โรคน้ำกัดเท้า หรือ เท้าเปื่อย ระยะแรกผิวหนังจะอักเสบจากความเปียกชื้น เมื่อผิวลอกเปื่อยนาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อราบริเวณซอกผิวหนังที่อับชื้น อาการจะมีตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า มีอาการคันมากจนแตกเป็นแผล แล้วทำให้มีอาการอักเสบจากการติดเชื้อแทรกซ้อน

วิธีป้องกันหลังจากย่ำน้ำแล้วควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามเท้า หรือโรยด้วยแป้งฝุ่น ถ้าเป็นไปได้ควรสวมรองเท้ายางหุ้มข้อเมื่อจะย่ำน้ำ หากมีอาการเท้าเปื่อยควรทาด้วยขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ สำหรับหากถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ ใช้ผ้าหรือสายยางรัดเหนือแผลให้แน่น แล้วคลายให้เลือดสามารถไหลเวียนได้บ้าง ขณะที่กำลังเดินทางไปพบแพทย์

ส่วน โรคตาแดง ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง ปวดแสบตา น้ำตาไหลมาก เมื่อน้ำสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด เนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำตา ขี้ตา และน้ำมูกของผู้ป่วย จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ที่อาจปนเปื้อนเชื้อร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน และผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์

รวมทั้งเมื่อบ้านมีน้ำท่วมให้ระวังอันตรายจากไฟฟ้าดูด เพราะทำให้เสียชีวิตได้ จึงไม่ควรต่อไฟ หรือจับปลั๊กไฟฟ้า ขณะที่ตัวเปียก หรือยืนอยู่ในน้ำด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยสุขภาพประชาชน ขณะที่ถูกน้ำท่วมขังอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น