xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.อุบลฯเตือนภัยโรคที่มากับน้ำท่วมพร้อมส่งแพทย์ดูแลใกล้ชิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
อุบลราชธานี - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ออกโรงเตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมระวังโรคมากับน้ำ ทั้งโรคน้ำกัดเท้า ตาแดง ไข้เลือดออก แนะทำตัวอบอุ่น กินอาหารสะอาด ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ เพื่อร่วมกันควบคุมโรคระบาด พร้อมส่งทีมแพทย์-พยาบาลดูแลประชาชนในเขตน้ำท่วมใกล้ชิด

นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากสถิติการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาถึงเดือนกรกฏาคม 2554 พบมีผู้ป่วยโรคปอดบวม จำนวน 4,350 ราย โรคตาแดงจำนวน 2,864 ราย โรคสุกใสจำนวน 1,845 ราย โรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 514 ราย และไข้ไม่ทราบสาเหตุจำนวน 4,502 ราย

นายแพทย์สุรพร จึงขอเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังและดูแลสุขอนามัยมากกว่าปกติ โดยรักษาสุขภาพร่างกายให้อบอุ่น แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ซึ่งทำได้โดยง่ายคือ ล้างมือฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ หลังจากเดินย่ำน้ำให้ล้างมือล้างเท้าทุกครั้ง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และระวังอย่าให้ยุงกัด

อย่าใช้มือ แขน และผ้าสกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา ระวังไม่ให้น้ำสกปรกเข้าตา เมื่อน้ำสกปรกเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง หากมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผลให้รีบไปพบแพทย์-พยาบาลที่สำนักงานสาธารณสุขไปตั้งจุดให้บริการตามพื้นที่น้ำท่วมตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามกลายเป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญ อาทิ โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรระวังขณะมีน้ำท่วมที่พักอาศัยคือ สัตว์มีพิษที่หลบหนีน้ำเข้ามาในที่พักอาศัย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ จึงต้องตรวจสอบที่พักอาศัยสม่ำเสมอไม่ให้สัตว์มีพิษเหล่านี้หลบเข้ามาในบ้าน เพราะพิษของสัตว์บางชนิดสามารถทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม หากจำเป็นต้องถ่ายอุจจาระขณะมีน้ำท่วมบ้าน ควรถ่ายลงในถุง และเก็บขยะมาทิ้งบนบกไม่ควรทิ้งลงน้ำ เพราะทำให้น้ำเกิดการปนเปื้อนและเกิดการแพร่ระบาดโรคต่างๆมากขึ้น

ขณะเดียวกันควรดูแลบุตรหลานที่อยู่ในวัยซุกซนไม่ให้ลงไปเล่นน้ำ เพราะจากสถิติพบว่าเด็กในภาคอีสานเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดในประเทศ

นพ.สุรพร ยังกล่าวเตือนด้วยความเป็นห่วงต่อว่า ฤดูฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมแล้ว ยังมีโรคสำคัญที่ระบาดในฤดูนี้คือ โรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำขังเป็นเวลานาน สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้งประเทศ 27,548 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 43.37 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 18 ราย ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี มีอัตราป่วยอยู่ในลำดับที่ 54 ของประเทศ

โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.-สิ้นเดือน ก.ค.2554 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั้งสิ้น 445 ราย อัตราป่วย 24.67 ต่อแสนประชากร ยังไม่มีผู้เสียชีวิต และพบผู้ป่วยมากในกลุ่มอายุระหว่าง 11-15 ปีคิดเป็นร้อยละ 25.62 กลุ่มอายุ 6-10 ปี คิดเป็นร้อยละ 25.17 และกลุ่มอายุ 16-20 ปี ร้อยละ 17.30 มีการกระจายโรคใน 24 อำเภอ โดยอำเภอที่ยังไม่มีมีผู้ป่วยคือ อำเภอนาตาล

การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอร่วมกับองค์กรท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชน ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน เพราะเป็นมาตรการการป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด เมื่อพบผู้ป่วยทีมเคลื่อนที่เร็วจะออกไปควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายใน 24 ชั่วโมง

โดยพ่นสารเคมีที่บ้านของผู้ป่วย และรอบบริเวณบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร เพื่อกำจัดยุงตัวที่มีเชื้อไข้เลือดออก ป้องกันไม่ให้ไปกัดคนอื่น และไม่เปิดโอกาสให้วางไข่แพร่พันธุ์ต่อไป

และหากพบคนในบ้านมีไข้สูง ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา และกินยาพาราเซตามอลทุก 4-6 ชั่วโมง หากไข้ยังไม่ลดภายใน 2-3 วัน ให้สงสัยไว้ก่อนอาจป่วยเป็นไข้เลือดออก ส่วนยาลดไข้ที่ไม่ควรใช้คือ ยาแอสไพริน หรือยาที่มีฤทธิ์ลดไข้บรรเทาอาการปวดเมื่อย

เช่น บรูเฟน เพราะยาดังกล่าวจะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอาจทำให้เสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น