xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กาญจน์แนะวิธีป้องกันควบคุมโรคช่วงน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - สสจ.กาญจนบุรีแนะวิธีป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะอุทกภัย ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดโรคติดต่อระบาดและภัยสุขภาพต่างๆ ได้

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (11 ส.ค.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าฤดูฝนจะยาวนาน อาจมีฝนตกชุกทำให้บางพื้นที่เกิดอุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วม นำมาสู่การเกิดโรคติดต่อระบาดและภัยสุขภาพต่างๆ ได้ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะน้ำไหลบ่า น้ำท่วมระยะแรก อาจเกิดปัญหาการจมน้ำ ปัญหาการถูกไฟดูด ไฟช็อต สัตว์มีพิษกัด บาดแผลติดเชื้อ 2.ระยะน้ำท่วมขัง อาจเกิดปัญหาโรคตาแดง น้ำกัดเท้า โรคอุจจาระร่วง โรคทางเดินหายใจ (ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม) 3.ระยะน้ำเริ่มลดและน้ำลดแล้ว อาจเกิดปัญหาโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคไข้ฉี่หนู และปัญหาโรคติดต่อที่นำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ

โดย นพ.ไพศาลกล่าวแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ดังนี้

1.เตรียมของรับมือน้ำท่วม เช่น ไฟฉาย เทียนไข ยาสามัญประจำบ้าน อาหารกระป๋อง-อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม ผงน้ำตาลเกลือแร่ ติดไว้เผื่อมีอาการท้องร่วง ถุงพลาสติก เอาไว้ใส่ขยะและเอาไว้ถ่ายหนัก-เบา ในกรณีน้ำท่วมขัง หากถ่ายลงในน้ำจะทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ ปูนขาว ใช้ใส่ในถุงพลาสติกที่ถ่ายหนัก-เบา เพื่อฆ่าเชื้อโรค ถุงขยะสีดำใบใหญ่ สารเคมีกำจัดแมลงนำโรค เป็นต้น 2.วางแผนในการอพยพคนและสัตว์เลี้ยงหากเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3.ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และเพื่อความปลอดภัย

การปฏิบัติตัวในระหว่างน้ำท่วม
1.ในการกินอาหารและน้ำทุกครั้ง ต้องมั่นใจว่าอาหารและน้ำนั้นสะอาด และหากเป็นไปได้ ควรอุ่นอาหารทุกครั้งก่อนกินอาหาร 2.งดกินอาหารดิบ ต้องปรุงให้สุกก่อน เพราะในกรณีน้ำท่วม มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคสูงมาก 3.ล้างมือให้บ่อยเท่าที่จะทำได้ 4.ถ้าหากเป็นอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูป ต้องตรวจสอบวันหมดอายุ และกระป๋องที่บรรจุอาหาร กระป๋องต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่บวม และไม่เป็นสนิม และถ้าสามารถทำให้ร้อนได้ ควรทำให้ร้อนก่อนทุกครั้งก่อนกิน

5.ถ่ายหนักและถ่ายเบาลงส้วม ห้ามถ่ายลงน้ำโดยตรง เพื่อไม่ให้เป็นการกระจายตัวของเชื้อโรค กรณีที่ไม่มีห้องน้ำ ต้องถ่ายลงในถุงพลาสติก และถ้าเป็นอุจจาระต้องใส่ปูนขาวลงไปพอประมาณ เพื่อฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นผูกถุงให้สนิท แล้วทิ้งในถุงดำอีกที 6.หากเกิดภาวะท้องเสีย ให้ดื่มเกลือแร่ที่ผสมน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด และถ้าสามารถไปโรงพยาบาลหรือหน่วยรักษาพยาบาลได้ให้รีบไปทันที ที่สำคัญห้ามผู้ป่วยถ่ายลงน้ำเด็ดขาด 7.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ โดยเฉพาะผู้มีแผลในที่ที่สัมผัสน้ำได้ หากจำเป็นควรสวมถุงพลาสติกหรือใส่รองเท้าบูท ป้องกันแผลติดเชื้อ 8.ระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู, ตะขาบ, แมงป่อง, สัตว์มีพิษ ควรจัดที่พักให้โล่งแจ้ง เพื่อให้ง่ายในการระมัดระวัง

การดูแลสุขภาพหลังน้ำลด

1. ถึงน้ำจะลดลงแต่โรคและภัยสุขภาพก็ยังคงอยู่ เช่น ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคฉี่หนู โรคตาแดง ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะสภาวะน้ำกัดเท้า อาการคัน และโรคผิวหนัง เมื่อน้ำลดพื้นก็ยังแฉะ มีน้ำขัง มีน้ำเน่าจากขยะปฏิกูล และมีเชื้อโรคบางชนิด เมื่อต้องเดินลุยน้ำจึงต้องใส่รองเท้าบูท ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งหลังลุยน้ำ เพื่อป้องกันโรคผิวหนังที่ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ส่วนเสื้อผ้า ผ้าห่มและที่นอน ควรทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง และไม่ควรใส่ช้ำๆ นอกจากนี้ต้องระวังสัตว์มีพิษ และแมลงสัตว์กัดต่อย

2.สภาวะเครียดจากความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน สิ่งของ รายได้ อาชีพ รวมถึงการสูญเสียจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว ควรรับคำปรึกษาเยียวยาทางจิตใจจากหน่วยบริการด้านสุขภาพจิต

3. การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลขณะใช้ชีวิตช่วงน้ำท่วม หากเทศบาลหรือหน่วยงานราชการนำรถ/ เรือกำจัดขยะมารับก็ควรรวบรวมนำไปกำจัด แต่หากพื้นที่ใดไม่มี ควรรวบรวมแล้วขุดหลุมบริเวณที่น้ำแห้งแล้วฝังกลบให้เรียบร้อย ป้องกันแมลงวัน สุนัข และหนู มาคุ้ยเขี่ย
กำลังโหลดความคิดเห็น