พิษน้ำท่วม ทำคนไทยเครียดสูงพุ่งกว่า 1 พันราย เสียงฆ่าตัวตาย เกือบ 380 ราย สธ.เร่งเยียวยา พร้อมเตือนประชาชนระวัง โรคตาแดง
วันนี้ (26 ก.ย. ) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงการประชุมวอร์รูมน้ำท่วม สธ.ว่า ในช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมกระทบในหลายพื้นที่นั้น ทาง สธ.มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชนหลายด้าน ทั้งเรื่องการจมน้ำ อันตรายจากไฟฟ้าดูด สัตว์มีพิษน้ำกัดเท้า และแผลเปื่อยติดเชื้อ นอกจากนี้ อาจจะมีการระบาดของโรคตาแดงด้วย เพราะโรคตาแดงมักจะมากับน้ำที่สกปรก โดยเชื้อจะติดตามง่ามนิ้ว และเข้าสู่ตาโดยการขยี้ อาจทำให้เกิดโรคตาแดงได้ง่าย ซึ่งอาการจะมีลักษณะตาขาวแดงเรื่อๆ มีน้ำตาไหล และมีขี้ตามากกว่าปกติ จึงอยากให้ประชาชนระวังสุขภาพด้วย ทั้งนี้ จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้งหมด 2,926 ครั้ง มีผู้มารับบริการทั้งหมด 368,432 ราย และจากการเฝ้าระวังโรคที่มักจะมากับน้ำท่วม พบผู้ป่วยโรคตาแดง 1,746 ใน 3 จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ และ มหาสารคาม
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัด สธ.ในฐานะประธานการประชุมวอร์รูม กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ มีพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินจำนวน 57 จังหวัด คลี่คลายแล้วจำนวน 34 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 28 จังหวัด โดยโรค 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดกล้ามเนื้อ โรคผิวหนัง และโรคเครียด โดยจำนวนผู้ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตสะสมรวม 49,650 ราย พบมีความเครียดสูง 1,451 ราย มีภาวะซึมเศร้า 3,161 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 375 ราย และต้องติดตามดูแลพิเศษ 530 ราย สำหรับสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบยังคงเดิม คือ จำนวน 240 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเยียวยานั้น สธ.ก็ยังคงใช้แผนเดิม คือ ออกบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีการประชุมคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.)ในวาระพิเศษเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประบภัยน้ำท่วม ซึ่งมี นายวิทยา เป็นประธาน โดยการประชุมครั้งนี้มีการดำเนินการต่อในเรื่องของกองทุนสำรองกลางกรณีมีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สถานการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย โดยจะกระจายงบประมาณดังกล่าวสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ทาง บอร์ด สปสช.ได้มีการเน้นย้ำเรื่องการประสานเครือข่ายหน่วยบริการที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นที่รับส่งต่อ สนับสนุนงบประมาณกรณีผู้ป่วยที่ไปรับบริการทั้งภายนอกเครือข่าย และในเครือข่ายที่มีการข้ามขั้นตอน จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อบริการประชาชน และสนับสนุนการส่งต่อผู้ที่ไม่สามารถใช้ระบบปกติได้ ในกรณีฉุกเฉินให้นำเรื่องการส่งต่อทางด้านเฮลิปคอปเตอร์ ทางเรือ/แพ ขนานยนต์ สามารถเบิกได้ตามระเบียบของ สปสช.ตามเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย