เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อุทกภัยครั้งใหญ่ซึ่งทำให้นาข้าวในหลายประเทศเอเชียจมอยู่ใต้น้ำอาจส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น และซ้ำเติมความทุกข์ยากแก่ชาวนาซึ่งเป็นประชากรที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค ผู้เชี่ยวชาญเตือน
พื้นที่นาข้าวในไทย, เวียดนาม, กัมพูชา และลาว ได้รับความเสียหายแล้วราว 1.5 ล้านเฮกตาร์ (9 ล้านไร่เศษ)โดยมีบางส่วนที่ยังเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี เจ้าหน้าที่ระบุ
ไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยแล้ว 237 ราย นาข้าวล่มเสียหายไป 6 ล้านไร่เศษ หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในลาวและกัมพูชายังสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มวลน้ำได้ไหลเข้าไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ล่าสุดที่จมอยู่ใต้กระแสน้ำ
ห่างออกไปทางตะวันตก นาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรมในปากีสถานก็ถูกน้ำท่วมเสียหายคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (62,000 ล้านบาท)
“ทั่วทั้งภูมิภาคจะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอีกครั้ง เนื่องจากข้าวที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้เร็วๆนี้ก็ถูกน้ำท่วมหมด ความสูญเสียในปีนี้นับว่ารุนแรง และคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าชาวบ้านจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้” มาร์กาเรตา วอห์ลสตรอม หัวหน้าฝ่ายบรรเทาภัยพิบัติจากองค์การสหประชาชาติ ระบุในถ้อยแถลง
อุทกภัยครั้งใหญ่ยังเพิ่มเติมความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาข้าวในตลาด ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากนโยบายรับจำนำข้าวของไทย
ด้านเวียดนามก็เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย และโดยผลผลิตกว่าครึ่งหนึ่งมาจากพื้นที่นาข้าวบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
จังหวัดด่งทัป (Dong Thap) และ อันยาง (An Giang) ซึ่งติดกับกัมพูชา เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด
องค์การสหประชาชาติซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาลเวียดนาม ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยแล้ว 11 ราย บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 20,000 หลัง และนาข้าวล่มเสียหายประมาณ 99,000 เฮกตาร์ (594,000 ไร่เศษ)
“ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุทกภัยในปีนี้ ซึ่งที่จริงแล้วก็หนักกว่าที่เราคาดไว้” เวือง ฮู เทียน (Vuong Huu Tien) เจ้าหน้าที่กรมควบคุมอุทกภัยและพายุในเมืองอันยาง เผย
ในส่วนของกัมพูชา น้ำได้ไหลเข้าท่วมนาข้าวกว่า 330,000 เฮกตาร์ (1,980,000 ไร่เศษ) โดยกว่า 100,000 เฮกตาร์ (600,000 ไร่เศษ) ได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับ งิน ไช เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงการเกษตรกัมพูชา ระบุ
งิน ไช กล่าวว่า ความสูญเสียครั้งใหญ่จะกระทบต่อผลผลิตข้าวของกัมพูชา ซึ่งเคยคาดไว้ว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในปีนี้
ลาว ก็ได้รับความเสียหายหนักไม่แพ้กันโดยพายุโซนร้อนหลายลูกที่พัดกระหน่ำแดนจำปาตั้งแต่เดือนมิถุนายนคร่าชีวิตชาวลาวไปแล้ว 23 ราย นาข้าวล่มอีกกว่า 60,000 เฮกตาร์ (360,000 ไร่เศษ) และเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลลาวยังต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนน้ำงึม ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมากขึ้นอีก หนังสือพิมพ์ เวียงจันทน์ ไทม์ส รายงาน
หวอ ต่ง ซวน (Vo Tong Xuan) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวในนครโฮจิมินห์ ระบุว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้อุทกภัยปีนี้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง คือฝนที่ตกหนักผิดปกติในไทยและลาว ซึ่งทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลลงสู่แม่น้ำโขง
การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุทกภัยรุนแรงขึ้น เนื่องจากเขื่อนเหล่านั้น “ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมบางพื้นที่ แต่กลับกระตุ้นให้พื้นที่อื่นๆถูกน้ำท่วมแทน” บุ่ย มินห์ ตัง (Bui Minh Tang) นักอุตุนิยมวิทยา ระบุ