บอร์ด สปส.ไฟเขียวเพิ่มทีมเฉพาะกิจกว่าเท่าตัว ติดตามทวงหนี้สถานประกอบการค้างชำระเงินสมทบกว่า 3 หมื่นแห่ง คิดเป็นเงินกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้า 9 เดือน หากได้ผลดีพร้อมขยายผล
วันนี้ (10 ม.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงระบบติดตามทวงหนี้สถานประกอบการที่ค้างชำระเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งเป็นยอดสะสมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนมาจนถึงปี 2554 คิดเป็นวงเงินประมาณ 3-4% ของเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 8.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเงินประมาณกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นยอดค้างชำระที่ยังไม่สูงมาก ทั้งนี้ มีสถานประกอบการค้างชำระกว่า 3.2 หมื่นแห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการปิดการไปแล้วประมาณ 1.2 หมื่นแห่ง ส่วนที่เปิดกิจการอยู่มีประมาณ 20,930 แห่ง
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในการปรับปรุงระบบการติดตามทวงหนี้ค้างชำระของสถานประกอบการจะมีการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่กว่าเท่าตัว คิดเป็น 178 อัตรา จากเดิมที่มีอยู่เพียง 60 อัตรา เนื่องจากที่ผ่านการติดตามทวงหนี้ค้างชำระไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะขาดแคลนบุคลากร ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติแก้ปัญหาโดยการเพิ่มบุคลากรให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทาง สปส.จะเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเป็นโครงการเฉพาะกิจชั่วคราวตั้งแต่เดือนมกราคมนี้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน เน้นรับสมัครบุคคลที่จบสายนิติศาสตร์ และจะมีการประเมินการทำงานในช่วง 6 เดือนแรก หากประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะขยายผลโครงการออกไป แต่ถ้าไม่เป็นตามเป้าหมาย ก็จะมีการทบทวนระบบทวงหนี้ในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป
“ที่ผ่านมา เราไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้เป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็น เพราะขาดกำลังคนที่จะเข้าไปดำเนินการโดยทางกองนิติการของ สปส.ได้ชี้แจงปัญหานี้ต่อที่ประชุม ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะเพิ่มบุคลากรในการติดตามทวงหนี้ให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้จะมีการประเมินผลในช่วง 6 เดือนแรก ถ้าได้ผลดีก็จะทำต่อไป แต่ไม่ได้ผล ก็จะทบทวนใหม่” นพ.สมเกียรติ กล่าว