ปลัดแรงงาน เผย ลดเงินสมทบเงินกองทุนสปส.ปี 55 ลดลง 3 หมื่นล้านบาท ยันไม่กระทบสิทธิประโยชน์ทุกกรณี ชี้ กองทุนชราภาพเงินเพิ่ม 2 พันล้าน แจงผู้ประกันตนเงินในกระเป๋าเหลือมากขึ้น
วันนี้ (1 ธ.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่บอร์ด สปส.ได้มีมติให้ลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนเงินสมทบของปี 2555 ลดลงไปประมาณ 31,060 ล้านบาท
“เนื่องจากหลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อยอดเงินกองทุนลดลงไปดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยเฉพาะใน 4 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร ผมขอยืนยันว่า แม้เงินกองทุนจะหายไปก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ใดๆ ผู้ประกันตนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิม” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคม ยังคงมีเงินสะสมที่เหลือจากบริหารจัดการในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอด 20 ปี อยู่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท โดยสามารถนำไปชดเชยยอดเงินที่หายไปจากการลดเงินสมทุนครั้งนี้ได้ ซึ่งเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ การเก็บเงินสมทบทั้งลูกจ้างนายจ้างและรัฐบาลก็สามารถเก็บได้เต็มระบบเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นห่วงที่สุด ก็คือ การรักษาความมั่นคงของเงินกองทุนชราภาพ เพราะว่าเป็นเงินจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนในยามเกษียณจากการทำงาน เป็นเงินบำเหน็จ-บำนาญ โดยในแต่ละปีกองทุนชราภาพมีรายรับปีละประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลดเงินสมทบครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เงินก้อนนี้ลดลง ทั้งนี้ ยังทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 พันล้านบาท เนื่องจากใน 6 เดือนหลังปี 2555 จะได้รับอานิสสงส์จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทำให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสบทบเพิ่มขึ้น บวกกับรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตรเพิ่มเป็น 2% จากเดิมจายอยู่ 1%
ทั้งนี้ รายละเอียดของการลดเงินสมทบซึ่งปัจจุบันทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จ่ายอยู่ที่ 5% โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-มิ.ย.2555 ให้ลดการจ่ายเงินสมทบ 2% ของอัตราค่าจ้าง ทำให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเพียง 3% ส่วนระยะที่สองตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2555 ให้ลดการจ่ายเงินสมทบ 1% ของอัตราค่าจ้าง ทำให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพียง 4% ซึ่งในสองระยะรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบในอัตราเท่าเดิม คือ 2.75%
หากลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 จะทำให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลงร้อยละ 2 เช่น คนที่มีฐานเงินเดือน 4,000 บาท ปกติจ่ายเดือนละ 200 บาท หากลดลงจะต้องจ่าย120 บาท ฐานเงินเดือน 6,000 บาท ปกติจ่ายเดือนละ300 บาท หากลดลงจะต้องจ่าย 180บาท ฐานเงินเดือน 7,500 บาท ปกติจ่ายเดือนละ 375 บาท หากลดลงจะต้องจ่าย 225 บาท ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ปกติจ่ายเดือนละ 600 บาท หากลดลงจะต้องจ่าย 360 บาท ฐานเงินเดือน 15,000 บาท ปกติจ่ายเดือนละ 750 บาท หากลดลงจะต้องจ่าย 450 บาท
ปลัดแรงงาน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม มีสมาชิกผู้ประกันตนทุกมาตรา คือ ม.33, 39 และ 40 ทั้งหมด 9,924,000 คน และมีเงินกองทุน 890,481 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันว่างงาน มีอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึงขณะนี้มีแรงงานน้ำท่วมถูกเลิกจ้าง 9.5 พันคน และใช้สิทธิประกันว่างงานกว่า 8 พันคน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีการเลิกจ้างถึง 1 แสนคน เงินกองทุนก็ยังรองรับได้ไม่กระทบสถานภาพของกองทุน