xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด รง.นัดบอร์ด สปส.ถกเกณฑ์ปล่อยกู้สินเชื่อแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงาน นัดบอร์ด สปส.ถก 29 พ.ย.นี้ ชงร่างเกณฑ์ปล่อยกู้โครงการสินเชื่อจ้างงานวงเงิน 1 หมื่นล้าน ลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายรัฐ -นายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 1.5% ยันไม่กระทบเงินออมชราภาพ

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า ตนได้นัดบอร์ด สปส.ประชุมเพื่อหารือถึงมาตรการในการช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้างผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในวันที่ 29 พ.ย.นี้โดยมีวาระการพิจารณา เช่น การพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ของโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้าง งานซึ่งใช้เงินกองทุนประกันสังคม 1 หมื่นล้านบาทเพื่อปล่อยกู้แก่สถานประกอบการในการเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูกิจการผ่านธนาคารพาณิชย์ โดย สปส.จะนำเงินก้อนนี้ไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ และ สปส.ขอดอกเบี้ยร้อยละ 1 จากธนาคารโดยธนาคารจะไปปล่อยกู้ให้แก่สถานประกอบการในอัตราเบี้ยต่ำ ทั้งนี้ การปล่อยกู้จะมีเงื่อนไขว่าสถานประกอบการจะต้องรักษาสภาพการจ้างงาน หรือห้ามเลิกจ้างลูกจ้าง และจะต้องมีแผนการพัฒนาฟื้นฟูสถานประกอบการที่ชัดเจนด้วย จึงจะได้รับการพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ในการประชุมบอร์ด สปส.จะหารือถึงวงเงินปล่อยกู้ ซึ่งแต่เดิมจะปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่จะพิจารณาเพิ่มวงเงินให้มากขึ้นโดยสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน ปล่อยกู้ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่สถานประกอบการขนาดกลางจะปล่อยกู้ในวงเงินระหว่าง 3-5 ล้านบาท ส่วนสถานประกอบการขนาดใหญ่จะปล่อยกู้ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ขณะนี้มีธนาคาร 3 แห่งร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แต่ยังมีธนาคารอีกหลายแห่งที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนดอกเบี้ยปล่อยกู้นั้น ธนาคารแต่ละแห่งคิดดอกเบี้ยต่างกัน มีตั้งแต่ร้อยละ 3 ร้อยละ 4 และร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในที่สุดแล้วน่าจะลงตัวที่อัตราร้อยละ 3” นพ.สมเกียรติ กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในการประชุมจะมีการพิจารณาเรื่องลดเงินจ่ายสมทบข้ากองทุนซึ่งปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 2.75 และฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจ่ายอยู่ที่ฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างโดยจะเสนอให้ลดเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 1.5 ใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต รวมทั้งอาจจะลดในส่วนของกรณีประกันว่างงานด้วย เนื่องจากประเมินแล้วว่าสถานการณ์การเลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ

“ขอยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่หลายฝ่ายกังวล ว่า จะส่งผลกระทบต่อกองทุนชราภาพ ผมจะเสนอให้รัฐบาลนำเงินสมทบในส่วนที่ลดลง 1.5% ไปเติมไว้ในส่วนเงินออมชราภาพซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการชั่วคราวในระยะ 1-2 ปีเท่านั้น หากบอร์ด สปส.ให้ความเห็นชอบ กระทรวงแรงงานก็จะต้องจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้” นพ.สมเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น