ปลัดกระทรวงแรงงานเผยมาตรการช่วยจ่าย 2 พัน เริ่มรับคำร้องวันนี้ (10 พ.ย.) พร้อมจ่ายเช็คเงินสดปลายเดือน พ.ย.54 ขู่อมเงินลูกจ้างฟ้องฉ้อโกงเรียกเงินคืน
วันนี้ (9 พ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยช่วยจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยนำร่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม มายื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิดังกล่าวได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่ได้ตั้งแต่วันนี้ (10 พ.ย.) เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการยื่นขอเงินชดเชย 2,000 บาท ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งข้อมูลสภาพที่ตั้งของสถานประกอบการ จำนวนและรายชื่อของลูกจ้างที่เดือดร้อน จากนั้นทางสวัสดิการฯ จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการได้แจ้งไว้หรือไม่ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหลัก โดยต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ คือ 1.อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 2.มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และ 3.หยุดกิจการไม่น้อยกว่า 1 เดือน
ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวต่อว่า หากตรวจสอบข้อมูลและถูกต้องแล้ว ทางผู้ประกอบการจะต้องมาทำข้อตกลงเซ็นเอ็มโอยู ที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งนายจ้างต้องสำรองจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม หลังจากนั้นนำหลักฐานการจ่ายเงินเดือน และรายชื่อของลูกจ้าง มายื่นขอรับเช็คเงินสดได้ที่สวัสดิการฯ โดยหากยื่นเรื่องเร็วก็จะสามารถได้รับเงินตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะครอบคลุมเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม และลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น ธุรกิจประมง รวมถึงลูกจ้างธุรกิจเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างด้าว
“หากนายจ้างมีการทุจริตนำหลักฐานปลอมมายื่น เพื่อขอรับเงินชดเชย ทางกระทรวงฯ จะตรวจสอบโดยใช้ระบบของประกันสังคม หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะดำเนินคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงคืน และเรียกเงินคืนทั้งหมด” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว และว่า หากกรณีแรงงานที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่า 1 แสนคน กระทรวงแรงงานก็จะเสนอของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีมาตรการย่อยเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรายได้ขาดหายไป 25% โดยมีโครงการจ้างงานเร่งด่วน จะมีรายได้วันละ 150 บาท จ้างงานไม่เกิน 20 วัน, โครงการยกระดับฝีมือแรงงาน ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบประมาณแล้ว 61 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมาย 1.5 หมื่นคน