xs
xsm
sm
md
lg

เผยโรงงานกว่าหมื่นแห่งจมบาดาล-ลูกจ้างเดือดร้อน 4.4 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสร.เผย 17 จังหวัด สถานประกอบการถูกน้ำท่วม 10,827 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 446,777 คน เฝ้าระวังอุตสาหกรรมนวนคร ชี้ หากท่วมกระทบลูกจ้างกว่า 1.7 แสนคน เร่งหามาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง เล็งหางบช่วยค่าครองชีพให้พออยู่ได้

วันนี้ (17 ต.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ณ วันที่ 17 ต.ค.2554 เวลา 12.00 น.พบว่า ขณะนี้ใน 17 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วม มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั่วประเทศ 10,827 แห่ง และลูกจ้างเดือดร้อน 446,777 คน ซึ่งในจำนวนนี้เฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 5,296 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 373,590 คน คิดเป็น 100%
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ในจังหวัดปทุมธานี จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากวันนี้น้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมแล้ว และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) และฝ่ายทหาร ได้สั่งการให้สถานประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมด 227 แห่ง และมีลูกจ้าง 1.75 แสนคน หยุดกิจการชั่วคราว และอพยพลูกจ้างออกนอกพื้นที่ เพื่อดำเนินการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ซึ่งในส่วนของ กสร.ได้สั่งการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุทกภัยขึ้นที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน รวมทั้งให้มีการตรวจสอบว่าหากสถานการณ์น้ำท่วมยืดเยื้อ จะมีสถานประกอบการที่ต้องหยุดกิจการกี่แห่ง และลูกจ้างต้องหยุดงานกี่วัน

ทั้งนี้ ศปภ.ได้พยายามป้องกันไม่ให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนครอย่างเต็มที่ เนื่องจากนิคมดังกล่าวมีลูกจ้างอยู่มากที่สุด เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยในจังหวัดปทุมธานี มีสถานประกอบการทั้งหมด 10,982 แห่ง และลูกจ้าง 406,940 คน และเฝ้าระวังนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ใน กทม.ด้วย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวยังไม่ถูกน้ำท่วม

ตอนนี้ภาพรวมทั่วประเทศ ยังไม่มีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะกลัวเมื่อน้ำลดแล้ว สถานประกอบการเปิดขึ้นมาแล้ว จะไม่มีลูกจ้างทำงาน อย่างโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ที่ช่วยเหลือลูกจ้างในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม อพยพไปทำงานที่อื่นชั่วคราว นายจ้างก็เกรงว่าลูกจ้างโดยเฉพาะแรงงานฝีมือจะไม่กลับมาทำงานด้วยอีก และเท่าที่ได้พูดคุยกับสถานประกอบการต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วม ต่างยินยอมที่จะจ่ายค่าจ้างงวดแรกตามงวดการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งมีทั้งระยะเวลา 15 วันและ 1 เดือนในช่วง ต.ค.นี้ ส่วนงวดที่ 2 ทางภาครัฐคงต้องเข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้แก่นายจ้าง เนื่องจากขณะนี้นายจ้างไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ทำให้ไม่มีรายได้เช่นที่ผ่านมา” อธิบดี กสร.กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งรายวันและรายเดือน บางแห่งจ่ายถึง 75% ของอัตราค่าจ้าง ในเวลา 26 วัน ขณะเดียวกันได้กำชับให้ผู้รับเหมาช่วง ให้ดูแลจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง เพราะถือว่าเป็นนายจ้างโดยตรง จะไปโยนภาระให้แก่สถานประกอบการฝ่ายเดียวไม่ได้ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีลูกจ้างรับเหมาช่วงอยู่ประมาณ 20-30%

ขณะนี้ กระทรวงแรงงานกำลังเตรียมวางมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม โดยจะจัดหางบประมาณก้อนหนึ่ง เป็นค่าครองชีพ เพื่อดูแลลูกจ้างให้มีเงินพอกินพออยู่ได้ แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็ต้องอุ้มลูกจ้างไว้ชั่วคราวไปก่อน เพราะขณะนี้ลำพังนายจ้างฝ่ายเดียวคงแบกรับภาระในเรื่องนี้ไม่ไหว รวมทั้งได้เตรียมการช่วยเหลือลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เช่น การของบเพิ่ม 200 ล้านบาท เติมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ที่ปัจจุบันมีเงินอยู่แล้ว 230 ล้านบาท” อธิบดี กสร.กล่าว

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า มีแรงงานถูกเลิกจ้างงานจำนวนกว่า 3 แสนคน จากสถานการณ์พิบัติภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการรายงานว่ามีแรงงานถูกเลิกจ้างแต่อย่างใด เนื่องจากนายจ้างเองก็ไม่อยากเลิกจ้างงาน เพราะต้องการรักษาแรงงานเอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น