นายจ้างวอนชะลอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เตรียมเสนอบอร์ดค่าจ้าง 17 ต.ค.นี้ ชี้ น้ำท่วมหนักทำสถานประกอบการอ่วมขอเวลาฟื้นฟู 6 เดือน ค่อยถกใหม่ ยันรักษาลูกจ้างให้มากที่สุด ไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดือดร้อนจากน้ำท่วม
วันนี้ (16 ต.ค.) นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการค้าขนมไทย และกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวในการแถลงข่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางชะลอการพิจารณา ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทที่สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมในหลายจังหวัด ทำให้มีสถานประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบกว่า 1 หมื่นแห่ง และลูกจ้างและครอบครัวเดือดร้อนหลายแสนคน เพื่อให้สถานประกอบการได้มีเวลาฟื้นฟู ซึ่งคาดว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่ายได้แก่ฝ่ายภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้างในวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมชะลอการพิจารณาปรับขึ้นค่าค้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท
“ตอนนี้มีข้อเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกเป็นของฝ่ายภาครัฐและลูกจ้างที่ให้ปรับขึ้นค่าจ้าง 40% จาก อัตราค่าจ้างแต่ละจังหวัดในปัจจุบันในวันที่ 1 ม.ค.2555 และปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.2556 และแนวทางที่สองเป็นของฝ่ายนายจ้างที่ให้ปรับขึ้นค่าจ้างแบบขั้นบันไดในเวลา 4 ปี ผมจะเสนอในที่ประชุมบอดร์ค่าจ้างในวันที่ 17 ต.ค.นี้ให้ชะลอการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทออกไปก่อนเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นมาคุยกันใหม่” นายอรรถยุทธ กล่าว
นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างไม่ได้คิดเอาชนะรัฐบาล ไม่เคยบอกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องให้เวลานายจ้างได้ปรับตัวและมีข้อมูลทางวิชาการรองรับชัดเจนว่า จะมี ผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ทั้งนี้ หากในการประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางในวันที่ 17 ต.ค.นี้ กรรมการฝ่ายภาครัฐและฝ่ายลูกจ้างจับมือกันโหวตเพื่อให้มีมติปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ก็เป็นการกระทำที่ผิดมาตรา 157 ของกฎหมายอาญาเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เหมือนกับกรณีรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกหวยบนดิน
“ถ้าบอร์ดค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทก็จะเป็นการกระทำผิดมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นไปตามการพิจารณาของคณะกรรมกาค่าจ้างโดยพิจารณาจากข้อมูลทางวิชาการต่างๆเช่น ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ สภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการพิจารณาโดยไม่ได้ยึดข้อมูลทางวิชาการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ทางสมาคมนายจ้างก็จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและศาลแรงงานว่าบอร์ดค่า จ้างกระทำผิดกฎหมาย 2 มาตราข้างต้น” นายประสิทธิ์ กล่าว
นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 6 เดือนระหว่างที่สถานประกอบการกำลังฟื้นฟู และหากมีการชะลอการพิจารณาปรับขึ้น ค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทออกไปก่อน ทางฝ่ายนายจ้างก็ไม่ปล่อยให้ลูกจ้างต้องอดตายยินดีให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ตามปกติเช่นเดียวกับปีก่อนๆที่จะให้ปรับขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.ของทุกปีโดยข้อมูลทางวิชาการจะอยู่ที่ 7-10 บาท อย่างไรก็ตาม หากจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท อยากให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมา ที่ผ่านมารัฐบาลเคยออกเช็ค 2 พันบาทช่วยเหลือประชาชน 1 หมื่นคน บ้านครั้งแรก รถยนต์คันแรกก็ยังทำได้
“ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงานเป็นห่วงว่าผลกระทบจากน้ำท่วม จะทำให้ลูกจ้างเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างประมาณ 1 แสนคนนั้น ขณะนี้ไม่มีเหตุผล เงื่อนไขใดๆ ที่นายจ้างจะไปเลิกจ้างลูกจ้างได้ เพราะดูกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว สถานการณ์น้ำท่วมเวลานี้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่นายจ้างจะไปบอกเลิกลูกจ้างได้ และตอนนี้สถานประกอบการต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมก็จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ของเงินเดือน บางบริษัทจ่ายให้ถึง 100% เพราะต้องการรักษาลูกจ้างไว้ ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทกับน้ำท่วม ผมบอกได้เลยว่าน้ำท่วมไม่ได้ทำให้ลูกจ้างตกงานแต่ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทน่าจะทำให้ลูกจ้างตกงานมากกว่า” นายประสิทธิ์ กล่าว
นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทยและกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ตนจะร่วมกับนายอรรถยุทธขอร้องต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางให้ชะลอการ พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ออกไปก่อน 6 เดือน ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงานเป็นห่วงว่าผลกระทบจากน้ำท่วม จะทำให้ลูกจ้างเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างประมาณ 1 แสนคนนั้น ตนขอยืนยันว่าลูกจ้างไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้เพราะนายจ้างไม่เลิกจ้าง ลูกจ้างง่ายๆ มีแต่จะพยายามรักษาลูกจ้างไว้ให้ได้เพราะลูกจ้างหายากและต้องใช้เวลาฝึกฝน นานกว่าจะทำงานได้
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ ที่ปรึกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่า อยากให้บอร์ดค่าจ้างชะลอการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทออกไปก่อนเพราะอยากให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าบุ่มบ่าม เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่ อยุธยา ปทุมธานี มีผลกระทบไปถึงสถานประกอบการที่จ.ปราจีนบุรี ระยองต้องหยุดกิจการไปด้วย ตอนนี้อยู่ในภาวะโกลาหล ไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ทำให้นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมบางชันถูกน้ำท่วมไปด้วยหรือ ไม่
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทภายในเวลา 1 ปีเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดในกรุงเทพฯและปริมณฑลขึ้นมาถึง 85 บาทต่อวัน ต่างจังหวัด 70-75 บาทต่อวัน ซึ่ง ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เพราะต้องใช้เวลาปรับตัว 3-4 ปี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว
“เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่หาเสียงไว้จนได้รับเลือกตั้ง จึงไม่ควรมาเอาเงินผู้ประกอบการ รัฐบาลจะต้องจ่ายไม่ใช่โยนภาระให้ผู้ประกอบการ รัฐบาลต้องอะไรมีเหตุผลมากกว่านี้และผ่านบอร์ดค่าจ้าง แต่ขณะนี้ได้มีการบล็อกโหวตคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดให้ปรับขึ้นค่าจ้าง เป็นวันละ 300 บาท ส่วนมาตรการลดภาษีนิติบุคคลปีหน้าจาก 30% เหลือ 27% นั้น ส.อ.ท.ไม่ต้องการยินดีจ่ายภาษี” นายทวีกิจ กล่าว