xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดค่าจ้างเคาะขึ้น 40% ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดเคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว 40% ทั่วประเทศ เริ่ม 1 เม.ย.55 ส่งผล 7 จังหวัดค่าจ้างพุ่งถึง 300 บาทต่อวัน คงที่ถึงปี 58 ที่เหลือปรับครบทุกจังหวัดอีกครั้งปี 56 เตรียมเสนอ ครม.พร้อมแพ็คเกจมาตรการช่วยเหลือธุรกิจภายใน 2-3 สัปดาห์หน้า

วันนี้ (17 ต.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เผยหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ว่า ที่ประชุมทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง มีมติเป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีการโหวต ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่ขณะนี้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นในจังหวัดต่างๆ จึงให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างตามมติดังกล่าว จากเดิมจะให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2555 ไปเป็นในวันที่ 1 เม.ย. 2555 และให้คงอัตราค่าจ้างในจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทต่อวันไว้ไปจนถึงปี 2558 ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ก็จะดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 300 บาท ภายในปี 2556 อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วย หากมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ก็จะมีการพิจารณาว่าจะปรับค่าจ้างในทุกจังหวัดเร็วกว่ากำหนด
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมชี้แจงถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ เช่น การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556, การหักรายจ่ายของค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปหักภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่า จากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้เสนอไว้ที่ 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างได้เสนอมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การเสนอขอลดภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มธุรกิจ แต่ครอบคลุมเฉพาะบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้รับไปพิจารณา รวมทั้งการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม และขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งนี้ ในเรื่องนี้ตนคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมในการประชุมวันที่ 25 ต.ค.นี้

“จะเสนอมติข้างต้น ของที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง พร้อมกับมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทของกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะเสนอเป็นแพกเกจเดียวกันทั้งหมดในคราวเดียว โดยจะเสนอให้เร็วที่สุด คาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องรอแต่ละกระทรวงสรุปมาตรการช่วยเหลือออกมาให้ครบทุกกระทรวงก่อน” นพ.สมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 40% ทั่วประเทศ จะทำให้อัตราค่าจ้างแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นดังนี้ จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร 300 บาทต่อวัน จังหวัดชลบุรี 274.4 บาทต่อวัน จังหวัดฉะเชิงเทรา และสระบุรี 270.2 บาทต่อวัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 266 บาทต่อวัน จังหวัดระยอง 264.6 บาทต่อวัน จังหวัดพังงา 260.4 บาทต่อวัน จังหวัดระนอง 259 บาทต่อวัน จังหวัดกระบี่ 257.6 บาทต่อวัน จังหวัดนครราชสีมา และปราจีนบุรี 256.2 บาทต่อวัน จังหวัดลพบุรี 254.8 บาทต่อวัน

จังหวัดกาญจนบุรี 253.4 บาทต่อวัน จังหวัดเชียงใหม่ และราชบุรี 252 บาทต่อวัน จังหวัดจันทบุรี และเพชรบุรี 250.6 บาทต่อวัน จังหวัดสงขลา และสิงห์บุรี 246.4 บาทต่อวัน จังหวัดตรัง 245 บาทต่อวัน จังหวัดนครศรีธรรมราช และอ่างทอง 243.6 บาทต่อวัน จังหวัดเลย ชุมพร พัทลุง สตูล และสระแก้ว 242.2 บาทต่อวัน จังหวัดสมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา สุราษฎร์ธานี 240.8 บาทต่อวัน จังหวัดนราธิวาส อุบลราชธานี และอุดรธานี 239.4 บาทต่อวัน จังหวัดนครนายก และปัตตานี 238 บาทต่อวัน

จังหวัดหนองคาย ตราด ลำพูน บึงกาฬ 236.6 บาทต่อวัน จังหวัดกำแพงเพชร และอุทัยธานี 235.2 บาทต่อวัน จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท และสุพรรณบุรี 233.8 บาทต่อวัน จังหวัดเชียงราย นครสวรรค์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และสกลนคร 232.4 บาทต่อวัน จังหวัดชัยภูมิ มุกดาหาร ลำปาง สุโขทัย และหนองบัวลำภู 231 บาทต่อวัน จังหวัดนครพนม 229.6 บาทต่อวัน จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ 228.2 บาทต่อวัน จังหวัดตาก และสุรินทร์ 226.8 บาทต่อวัน จังหวัดน่าน 225.4 บาทต่อวัน จังหวัดศรีสะเกษ 224 บาทต่อวัน และจังหวัดพะเยา 222.6 บาทต่อวัน

นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า คณะกรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คน มีความกังวลในหลักการในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้เนื่องจากไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87 ที่ระบุว่าการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างต้องใช้ข้อมูลอ้างอิงจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต เป็นต้น เนื่องจากจะทำให้ภาคเอกชนนำไปฟ้องร้องคณะกรรมการค่าจ้างต่อศาลปกครองได้ เพราะเหมือนทางภาครัฐได้มีการตั้งธงให้คณะกรรมการพิจารณาปรับขึ้น 40% หรือ 300 บาทไว้แล้ว

“ยืนยันว่าไม่มีการกดดันจากฝ่ายการเมืองและภาครัฐ การพิจารณาในวันนี้ไม่ได้มีการโหวตเป็นไปด้วยการตกลงกันด้วยดี ส่วนกรณีนายจ้างมีมติที่ให้คณะกรรมการค่าจ้างเพื่อชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างไปอีก 6 เดือน เนื่องจากภาวะน้ำท่วม เพราะได้มีการเลื่อนปรับขึ้นค่าจ้างออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 จึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม” นายปัณณพงศ์กล่าว

ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างมีมติปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เพราะสิ่งที่ร้องขอเพื่อให้ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างเพราะวิกฤตน้ำท่วมก่อนหน้านี้ ได้มีการเลื่อนไปปรับเป็นวันที่ 1 เมษายน ปีหน้า อีกส่วนหนึ่งคือไม่สามารถทานกระแสสังคมได้ แต่เราก็ร้องขอให้อัตราค่าจ้างคงที่ถึงปี 2558 โดยจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอีกทีในวันที่ 1 มกราคม 59 อีกทั้งยังเรียกร้องให้ปรับลดภาษีเหมาจ่ายรายปี จาก 20% เหลือ 10% เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ได้รับประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง เวลา 10.30-11.30 น. คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างได้เข้าหารือในห้องทำงานของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น