ก.แรงงาน ถกคลังสรุป 3 มาตรการลดภาษีอุ้มเอสเอ็สอีขึ้นค่าจ้าง 300 บาท สั่งสำรวจธุรกิจเอสเอ็มนอกระบบ ดันเข้ามาตรการทั้งระบบ เชิญคลังแจงมาตรการต่อบอร์ดค่าจ้างกลาง 17 ต.ค.นี้
วันนี้ (13 ต.ค.) นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังได้มีการหารือถึงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดย ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังมาร่วมประชุมกับตน และ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานโดยที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ ได้แก่ 1.การต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้หักค่าเสื่อมอัตราเร่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในปีแรกออกอีก 1 ปี 2.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินที่ได้มาจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ และ 3.การหักรายจ่ายสำหรับค่าจ้างแรงงานส่วนเพิ่มเพื่อนำไปหักภาษีได้ 1.5 เท่า โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทที่ใช้สิทธินี้จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายไม่ได้เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้สอบถามกระทรวงการคลังไป ว่า มาตรการนี้ครอบคลุมธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลด้วยหรือไม่ เช่น ร้านขายข้าวแกง ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ที่มีลูกจ้างจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดไปสำรวจธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ว่า มีจำนวนเท่าใด ซึ่งคาดว่า มีประมาณ 30% จากยอดเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีกว่า 2 ล้านแห่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ได้เชิญตัวแทนกระทรวงการคลังมาชี้แจงถึงมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีให้บอร์ดค่าจ้างกลางได้รับทราบ
“ขณะนี้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้วและหลายมาตรการก็ตกผลึกไปพอสมควรคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ มาตรการทั้งหมดจะได้ข้อสรุปและจะเสนอเป็นแพกเกจต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)” เลขานุการ รมว.แรงงาน กล่าว