xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานชงมาตรการอุ้มลูกจ้าง หลังพบได้ค่าจ้างแค่ 50-75% ต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กสร.สั่งสำรวจแรงงานได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เตรียมหามาตรการเยียวยา เสนอของบเพิ่ม 200 ล้านเติมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง รับมือแรงงานตกงาน หากสถานการณ์ยืดเยื้อ
           
วันนี้ (13 ต.ค.) นายอาทิตย์   อิสโม   อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดใน 15 จังหวัด ที่มีสถานประกอบการและลูกจ้างได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 ต.ค.มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 10,134 แห่ง และลูกจ้าง 292,058 คน ให้ไปจำแนกความเสียหายของแรงงานทั้งหมดว่าได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนหรือไม่ช่วงที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม เนื่องจากได้รับข้อมูลจากแรงงานว่า มีบางบริษัทจ่ายค่าจ้าง 75% หรือ 50%
      
อีกทั้งยังมีโรงงานที่ไม่ถูกน้ำท่วม แต่ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นธุรกิจต่อเนื่อง คือ โรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า ใน จ.สมุทรปราการ มีลูกจ้าง 20,124 คน โดยการลดเวลาการทำงาน ลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) และหยุดการทำงานบางแผนกแต่ยังไม่มีการเลิกจ้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า และฮอนด้า ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ถูกน้ำท่วม จำนวน 7 แห่ง  ทั้งนี้  จะสรุปตัวเลขที่ชัดเจนและหามาตรการช่วยเหลือเสนอต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 17 ต.ค.นี้  
           
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมยังยืดเยื้อในจำนวนแรงงานกว่า 2.9 แสนคนจะเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างประมาณ 1 แสนคน เนื่องจากสถานประกอบการไม่สามารถฟื้นฟูได้ทันและไม่สามารถทนแบกรับการจ่ายค่าจ้างได้นาน  ขณะที่ลูกจ้างก็ได้รับค่าจ้างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย อาจจะต้องมีการเคลื่อนย้ายหางานใหม่ ซึ่งบางส่วนอาจจะต้องตกงาน
           
อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า กสร.เตรียมหามาตรการรองรับแรงงานที่อาจจะต้องถูกเลิกจ้างโดยเตรียมเสนอของบประมาณเพิ่มเติม 200 ล้านบาท จากรัฐบาลมาเพิ่มเติมในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งปัจจุบันมีเงินอยู่แล้วประมาณ 230 ล้านบาท เพื่อเตรียมรับมือกับแรงงานที่อาจจะถูกเลิกจ้างโดยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างสามารถมายื่นคำร้องต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศหรือที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชย หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ทาง กสร.จะนำเงินจากกองทุนมาจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังนี้ 
             
สำหรับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 120 วัน แต่ไม่เกิน 3 ปี จะได้รับค่าชดเชย 30% ของค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละพื้นที่  ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 3 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปี จะได้รับค่าชดเชย 60% ของค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละพื้นที่ และลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับค่าชดเชย 90% ของค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ในกรณีที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างกองทุนสามารถช่วยเหลือในการจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 60% ของค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ซึ่งแต่ละบุคคลจะได้ไม่เท่ากัน
           
นอกจากนี้  ทาง กสร.ได้สั่งการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ซึ่งล่าสุดด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีสถานประกอบการ 217 แห่ง ลูกจ้าง 46,417  คน และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีสถานประกอบการ 79 แห่ง ลูกจ้าง 13,000 คน ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะน่าห่วง ทั้งนี้  ตนได้กำชับให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดไปขอความร่วมมือลูกจ้างให้ช่วยเหลือนายจ้างในการป้องกันไม่ให้ถูกน้ำท่วม
           
“ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ตนได้นัดหารือกับฝ่ายบุคคลของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนในจ.ปทุมธานี สมุทรปราการ   สมุทรสาคร  ชลบุรี  ระยอง รวมประมาณ  53 แห่ง และได้เชิญผู้ประกอบการใน จ.พระนครศรีอยุธยา มาร่วมหารือด้วย  เพื่อหาแนวทางในการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบไปทำงานชั่วคราวโดยเฉพาะในเรื่องระยะเวลาในการจ้างงานและอัตราค่าจ้าง รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่สถานประกอบการสามารถจ่ายได้และเป็นที่ยอมรับของนายจ้างเดิม” นายอาทิตย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า    กลุ่มสหภาพแรงงานบริษัท ฮิตาชิ   คอมเพรสเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งว่า        บริษัทซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ  จ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนตู้เย็น ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมจนไม่สามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนตู้เย็นส่งให้แก่บริษัท ฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด  ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี ได้   ทำให้ บริษัท ฮิตาชิ ต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  โดยจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่พนักงานได้รับตลอดระยะเวลาที่บริษัทมีคำสั่งให้หยุดงาน 

ทั้งนี้   บริษัท ฮิตาชิ ได้ประกาศให้พนักงานที่มีกว่า 1,000 คน ได้รับทราบว่า  บริษัทมีความจำเป็นต้องให้พนักงานสายการผลิตหยุดงานชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2554 และให้เริ่มทำงานในวันที่ 25 ตุลาคม  2554  และหลังจากวันที่ 25 ตุลาคม 2554    อย่างไรก็ตาม บริษัทจะประเมินสถานการณ์น้ำท่วม และการส่งคอมเพรสเซอร์อีกครั้ง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น  บริษัทจะประกาศวันหยุดให้ทราบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น