xs
xsm
sm
md
lg

พิษน้ำท่วมแรงงานอยุธยา-ปทุมฯ บุก ก.แรงงาน ร้องนายจ้างลอยแพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานน้ำท่วมอยุธยา-ปทุมธานี บุก ก.แรงงาน ร้องนายจ้างลอยแพ แถมเบี้ยวค่าจ้าง จี้ กสร.ช่วยส่งทีมไกล่เกลี่ย ด้านอธิบดี กสร.ยอมรับปัญหาน้ำท่วม ทำให้เข้าถึงแรงงานเดือดร้อนยาก จัดทีมเฉพาะกิจลง พท.น้ำท่วม ช่วยเหลือแรงงาน

วันนี้ (7 ธ.ค.) เวลา 09.30 น.ที่กระทรวงแรงงาน นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย พร้อมด้วยกลุ่มพนักงานบริษัท ไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และประสบภัยน้ำท่วมที่เตรียมจะย้ายพนักงานไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย และกลุ่มพนักงานมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสุนัข ประสบภัยน้ำท่วม และประกาศเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)เพื่อขอความช่วยเหลือให้ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชยตามกฎหมาย
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.พัชรี ศรีเจริญ วัย 28 ปี วิศวกรควบคุมคุณภาพ บริษัท ไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 500 คน และได้ไปตั้งโรงงานใหม่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาได้ให้พนักงานมาลงชื่อย้ายทำงานในโรงงานใหม่ที่มาเลเซีย โดยแจ้งว่า พนักงานที่มาลงชื่อจะได้รับค่าจ้าง 75% ของค่าจ้างในช่วงที่บริษัทหยุดกิจการไป เนื่องจากน้ำท่วมโดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อมาลงชื่อแล้วจะจ่ายเงินให้ก่อน 50% ของค่าจ้าง เมื่อเดินทางไปทำงานที่มาเลเซียก็จะจ่ายให้อีก 25% ของค่าจ้าง ส่วนพนักงานที่ไม่ได้มาลงชื่อจะไม่ได้รับเงินเดือน ทั้งนี้ มีพนักงานมาลงชื่อไม่ถึง 100 คน และต่อมาพนักงานที่ลงชื่อส่วนหนึ่งได้ขอถอนตัว เนื่องจากไม่เต็มใจที่จะไปทำงานที่มาเลเซีย

“การที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงชื่อย้ายไปทำงานที่มาเลเซีย โดยหากไม่ลงชื่อก็จะไม่ได้ค่าจ้างเท่ากับเป็นการบังคับพนักงานให้ย้ายไปทำงานต่างประเทศ พวกดิฉันกับพนักงานรวมประมาณ 100 คน ซึ่งมีอายุงานตั้งแต่ 1-7 ปี ล้วนไม่สมัครใจไปทำงานมาเลเซีย เนื่องจากไม่สะดวกในการดำเนินชีวิตจึงใช้สิทธิตามมาตรา 120 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างต่อนายจ้างภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างโดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีถูกเลิกจ้างและมายื่นหนังสือต่ออธิบดีกสร.เพื่อให้ช่วยเหลือให้ได้รับเงินชดเชยพิเศษตามกฎหมาย” น.ส.พัชรี กล่าว

นายไชยดิษฐ มีลือแดน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) บริษัท นอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นายจ้างสั่งหยุดงานตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม - 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และวันที่ 28 พ.ย.ได้เรียกพนักงานกลับเข้าทำงาน จนวันที่ 30 พ.ย.ได้มีหนังสือเลิกจ้างมายังพนักงานกว่า 60 คน โดยอ้างเหตุสุดวิสัยจากปัญหาอุทกภัย ขณะที่น้ำท่วมแค่พื้นผิวของโรงงานประมาณ 10-15 เซนติเมตร และไม่ยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 75% ระหว่างที่หยุดงานไป รวมทั้งเงินชดเชยที่ถูกเลิกจ้าง ดังนั้น จึงขอให้ กสร.เรียกนายจ้างมาสอบถามความชัดเจน และออกคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย

พวกผมได้เข้าไปตรวจสอบที่โรงงานในช่วงน้ำท่วมก็พบว่า น้ำท่วมแค่ 5 วัน ในระดับ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งยังพอทำงานได้อยู่ เนื่องจากบริษัทไม่มีเครื่องจักรตั้งอยู่บนพื้น ขณะที่โรงงานข้างเคียง 7 บริษัท ต่างเปิดดำเนินการกิจการได้เต็ม 100% จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมบริษัทถึงอ้างเหตุผลว่าเป็นสุดวิสัยน้ำท่วม ไม่ยอมเปิดกิจการและไม่เรียกคนงานกลับไปทำงาน จึงได้มายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจาก กสร.ให้เข้าไปเจรจากับนายจ้าง” นายไชยดิษฐ กล่าว

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดี กสร.กล่าวถึงกรณีลูกจ้างจาก 2 บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมายื่นข้อเรียกร้องว่า บริษัทแรก คือ บริษัท นอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องการเลิกจ้าง ซึ่งขณะนี้ได้นัดเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เพื่อสอบถามสาเหตุการเลิกจ้าง ว่าตรงตามที่ฝ่ายลูกจ้างร้องเรียนว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ และถ้ามีการเลิกจ้างจริง นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ส่วนบริษัท ไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ได้นัดเจรจาอีกครั้งในวันที่ 13 ธันวาคม เนื่องจากจะมีการโอนย้ายคนงานไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งกลุ่มนี้หากย้ายคนงานไปจริง คนงานต้องได้รับค่าจ้างตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย และในส่วนคนที่ไม่ย้ายไปก็ต้องมีการตกลงเรื่องสภาพการจ้างงาน เพื่อให้เกิดสิทธิ์หากมีการเลิกจ้าง

“ปัญหาของผู้ใช้แรงงานทั้ง 2 กลุ่มนี้ อยากให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ เจรจาหาทางออกร่วมกันและเกื้อกูลในยามวิกฤต หากยึดในข้อกฎหมายมากเกินไปจนถึงขั้นฟ้องร้องกัน จะไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายไม่ว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะก็ตามก็ไม่คุ้ม เพราะหลังจากนี้ลูกจ้างจะมองนายจ้างในแง่ลบ และไม่อยากมาทำงานด้วย ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างก็ต้องเสียเวลาในการฟ้องร้องและใช้เวลานานกว่าคดีจะสิ้นสุด” อธิบดี กสร.กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กสร.ได้จัดทีมเฉพาะกิจ 5 ทีม รวม 50 คน ลงไปช่วยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่อยู่ในพื้นที่วิกฤตเพื่อในการเข้าไปประสานและให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ยังไม่รู้สถานการณ์จ้างงานของตนเอง รวมถึงแรงงานที่ตกงาน ทั้งนี้ หลังจากนี้ 1 เดือน หากประเมินสถานการณ์แล้วยังไม่คลี่คลาย ก็จะส่งทีมเฉพาะกิจลงไปเพิ่มเติมอีก

“ช่วงที่วิกฤตน้ำท่วมรุนแรง การดูแลของเจ้าหน้าที่อาจไม่ทั่วถึง เนื่องจากการเดินทางโดยรถถูกตัดขาด แต่ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคหรือจังหวัดต่างๆ ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างเกิดความไม่แน่ใจ หรือต้องการความช่วยเหลือขอให้แจ้งได้ที่ กสร.หรือ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปหาทางช่วยเหลือ หรือติดต่อสายด่วน 1546” อธิบดี กสร.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น