ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบ “เอาปัญญาชนมากรอกถุงทราย เอาปัญญาควายมาบริหาร” ก่อวิกฤตซ้อนวิกฤต โดยเฉพาะแรงงานเกือบล้านชีวิตที่ยังไม่รู้ชะตาอนาคตเพราะไม่มีแผนเยียวยาชัดเจน ขณะที่รมว.กระทรวงแรงงานฯ ยังมีความสุขบนกองทุกข์ประชาชนเล่นโวหารเดี๋ยวน้ำลดก็ดีเอง
หลังรอดตายจากการหนีน้ำอย่างจ้าละหวั่น ถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมเดือนแล้วที่แรงงานนับล้านชีวิตยังตกอยู่ในภาวะที่ไม่รู้ชะตาอนาคตในวันหน้า เพราะปัญหาน้ำท่วมที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบางลง มวลน้ำมหาศาลเหนือกรุงเทพฯ ยังไม่ได้ไหลสู่ทะเลแต่อย่างใด สถานประกอบการ นิคมอุตสาหกรรม ที่จมบาดาลยังกู้คืนไม่ได้ และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสภาพการณ์นี้จะดำรงอยู่อีกนานแค่ไหน ถึงกลางพฤศจิกายนนี้จะผ่านพ้นวิกฤตอย่างที่รัฐบาลให้คำมั่นจริงหรือไม่ ไม่มีใครกล้ารับประกัน
นับจากเกิดปัญหาน้ำท่วมจนถึงขณะนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554) ว่า มีลูกจ้างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 752,439 คน จากสถานประกอบการ 19,251 แห่ง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม 7 แห่ง ได้แก่ นิคมสหรัตนนคร จ.อยุธยา นิคมโรจนะ จ.อยุธยา นิคมไฮเทค จ.อยุธยา นิคมบางปะอิน จ.อยุธยา นิคมแฟคตอรี่แลนด์ จ.อยุธยา นิคมนวนคร จ.ปทุมธานี นิคมบางกะดี จ.ปทุมธานี ในเบื้องต้นมีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างใน 2 จังหวัด คือ ปทุมธานี 4 แห่ง และพระนครศรีอยุธยา 6 แห่ง
แต่ตัวเลขลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัญหาได้ลุกลามไปยังสถานประกอบการในกรุงเทพฯ ที่มีน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีก 5 เขต มีโรงงานและสถานประกอบการได้รับผลกระทบกว่า 1,855 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบจนต้องหยุดงาน 23,166 คน และมีบางส่วนที่จ่ายค่าจ้างเพียงบางส่วน เช่น 75% หรือแค่ 50%
นี่ยังไม่นับแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งค้าขาย ขับแท็กซี่ ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ที่ไม่สามารถทำมาหากินได้เช่นกัน รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งแรงงานชาวพม่า ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่รัฐบาลยังไม่มีการพูดถึงแม้แต่น้อย แม้แต่ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อประทังชีวิต เช่น ถุงยังชีพ ข้าวกล่อง ก็ยังไม่ได้รับ พอๆ กับประชาชนชาวไทยบางส่วนที่ถูกทอดทิ้งเพราะหน่วยช่วยเหลือเข้าไม่ถึง
วิกฤตน้ำท่วมคราวนี้ จึงมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขเบื้องต้นของลูกจ้างที่อาจถูกเลิกจ้างตกงานนับล้านคน นั่นหมายถึงครอบครัว พ่อแม่ที่อาศัยลูกหลานกินก็ต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย
ขณะที่จำนวนแรงงานที่มีปัญหาถูกเลิกจ้าง ลอยแพ โดยเฉพาะแรงงานรายวันที่หนีตายด้วยน้ำตานองหน้ามากมายมหาศาล แต่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงแรงงาน กลับทำตัวสุขสบาย นั่งในห้องแอร์ฝากบอกถึงลูกจ้างทำนองว่าไม่มีผลกระทบอะไร เดี๋ยวน้ำลดก็ดีเอง
การทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ยังสาละวนอยู่กับการแถลงระดับน้ำขึ้น น้ำลง การเปิดปิดประตูน้ำ เพื่อรักษาเขตกรุงเทพฯชั้นในอย่างสุดชีวิต โดยไม่ได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบชนิดสิ้นเนื้อประดาตัว ทำมาหากินไม่ได้ และตกงานกันระนาว ทำให้หลายฝ่ายออกมากระทุ้งให้รัฐบาลเร่งรีบดำเนินการออกมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างจริงจังและเป็นระบบ อย่าทอดทิ้งให้พวกเขาเผชิญปัญหาตามยถากรรม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งขณะนี้จัดตั้งเครือข่ายแรงงานไทยช่วยภัยน้ำท่วมช่วยเหลือกันเอง โดยระดมขอรับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามศูนย์แรงงานกลุ่มย่านสหพันธ์แรงงานและสมาพันธ์แรงงาน 10 ศูนย์ ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ให้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานเฉพาะหน้าและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ ทั้งยังมีข้อเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมฯ ด้วย โดยข้อเรียกร้องและข้อเสนอหลักๆ มีดังนี้
1.ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เดือนละ 3,000 บาท
2.นายจ้างต้องไม่เลิกจ้างในช่วงประสบภัย
3.ข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม ให้เงินกู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้ประกันตนที่ถูกน้ำท่วม รายละ 50,000 บาท รวมทั้งซ่อมแซมยานพาหนะและทรัพย์สินอื่นๆ
4. ตั้งไตรภาคีระดับชาติกรณีภัยพิบัติน้ำท่วม โดยมีตัวแทนแรงงานที่ได้รับผลกระทบเป็นกรรมการ
5. การงดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม
6. ควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ มีมาตรการพิเศษสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เช่น การมีคูปองส่วนลดสินค้า
7.พักชำระหนี้สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 6 เดือน ครอบคลุมธนาคารของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินอื่น(บัตรเครดิต) รวมทั้งหนี้นอกระบบ
8. การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาล เพราะแรงงานผู้ประกันตนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก
9.ประสานงานย้ายสถานที่ทำงานไปสถานประกอบการอื่นที่ต้องการแรงงานชั่วคราว โดยคงสภาพการจ้างงานเดิม จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
10.นโยบายภาครัฐในการแก้ไขปัญหาจะต้องมีผู้ใช้แรงงานและองค์กรแรงงานมีส่วนร่วม
11.ในส่วนแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติ เช่น เย็บผ้า แท็กซี่ ค้าขายรายย่อย ขอให้พักชำระหนี้ในระบบเป็นเวลา 3 ปี และให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามนโยบายของรัฐและการส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยเงินทุนฟื้นฟูอาชีพปลอดดอกเบี้ยเพื่อใช้ชำระหนี้นอกระบบและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
12.ในส่วนแรงงานข้ามชาติ ควรได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น ถุงยังชีพ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกปฏิเสธ และรัฐบาลต้องออกประกาศรับรองการเดินทางออกนอกพื้นที่อย่างปลอดภัย ไม่ถูกเจ้าหน้าที่รีดไถ นอกจากนั้น รัฐควรมีมาตรการให้นายจ้างคืนบัตร เอกสารสำคัญให้คนงานเพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือและหางาน อีกทั้งควรมีมาตรการให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้แรงงานข้ามชาติ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่เดินทากลับภูมิลำเนา รัฐต้องเปิดลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่กลับบ้าน เมื่อน้ำลดสามารถเดินทางกลับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมทั้งแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาลอยคอหนีน้ำท่วม ก็ต้องรอพิสูจน์น้ำยาและน้ำใจทั้งจากรัฐบาลและนายจ้างที่มั่งคั่งร่ำรวยจากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขาว่าจะเร่งรีบโอบอุ้มช่วยเหลือ เยียวยา ตามข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอ หรือจะลอยแพแรงงานนับล้านซึ่งเดือดร้อนรวมไปถึงชีวิตคนในครอบครัวอีกรวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านชีวิตให้เผชิญชะตากรรมโดยไม่รู้อนาคต