ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานคณะเศรษฐกิจมหภาค สภาที่ปรึกษา แนะภาครัฐแก้ปัญหาโดยเน้นให้ความสำคัญในการเยียวยาทางด้านจิตใจโดยการ “ให้อาชีพ” พร้อมแนะทางแก้ให้ภาครัฐ “สร้างเขื่อน ประตูและฝายจากยางพารา” แทนการใช้เขื่อนดินหรือเขื่อนคอนกรีต เพราะมีความทนทาน ยืดหยุ่นสูง แถมประหยัด
เมื่อเร็วๆ นี้ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้นับว่ารุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งได้คร่าชีวิตและสร้างความเสียหายแก่ราษฎรบ้านเรือนตลอดจนที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล การแก้ไขปัญหาขณะนี้นอกเหนือจากการนำเครื่องอุปโภค บริโภค และเงินที่ทุกภาคส่วนได้ระดมกำลังไปช่วยเหลือแล้ว
สิ่งที่สำคัญที่สุด อยากเสนอแนะรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาในด้านการเยียวยาทางด้านจิตใจคือการสร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้มีงานทำภายหลังจากน้ำลด ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ และทำให้ช่วยคลายความเครียดให้กับประชาชนแล้วยังจะทำให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยมีรายได้และช่วยลดปัญหาด้านสังคม เช่น โจรผู้ร้าย อาชญากรรม ยาเสพติด และปัญหาอื่นๆ ตามมาลงได้ นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว เนื่องจากจะเป็นอาชีพที่ติดตัวไปในอนาคตอีกด้วย
ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค สป.กล่าวต่อว่า ตอนนี้รัฐบาลควรให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้มีการรวมกลุ่มอาจเป็นในรูปแบบ “วิสาหกิจชุมชน” โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนส่งนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ มาทำการฝึกอบรม รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบริษัทห้างร้านต่างๆ ในการรับซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ประสบอุทกภัย โดยจัดเป็นมุมตลาดขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ได้ผลิตขึ้น
ทั้งนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้า รวมทั้งให้สถาบันการเงิน เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือธนาคารออมสิน ฯลฯ มาให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ โดยรัฐทำการอุดหนุนดอกเบี้ยให้
ในเบื้องต้นนี้รัฐบาลจะต้องเร่งศึกษา โดยการสำรวจพื้นที่ และศึกษาอาชีพต่าง ๆ ที่เป็นอาชีพที่ใกล้ตัวที่ประชาชนสามารถทำได้ในท้องถิ่น และควรมีการสร้างเครือข่ายอาชีพเพื่อที่จะได้มีผลิตภัณฑ์ในปริมาณมากพอที่จะสามารถจัดส่งออกจำหน่ายไปยังผู้ใช้ได้ โดยเบื้องต้นภายหลังน้ำลดอาชีพที่สามารถดำเนินการได้และมีวัสดุอยู่แล้ว คือ การทำอิฐบล็อกที่ทำมาจากทรายที่ใส่ถุงนำมาเป็นคันกั้นน้ำ, การทำผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวา เนื่องจากน้ำหลากจะมีผักตบชวาลอยมากับน้ำ, การตัดเย็บเสื้อผ้า, ผลิตภัณฑ์ยาหอม ยาดมจากพืชสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยสามารถส่งยางพาราได้เป็นอันดับ 1 ของโลก สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยยังคงส่งออกในรูปวัตถุดิบ ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนนำวัตถุดิบจากยางพาราเหล่านั้นมาทำเป็นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่สามารถทำได้ในชุมชนเอง อาทิ ซีนที่ใช้กับสุขภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในบ้าน สำนักงานต่างๆ ขาโต๊ะ เก้าอี้ ดอกไม้จากยางพารา ฯลฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างกว้างขวาง และเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด ซึ่งในอนาคตสามารถพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ต้องเข้ามาช่วยดูแลต่อไป
นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเยียวยาทางด้านจิตใจโดยการให้อาชีพแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยแล้ว จากการที่ภาครัฐได้มีการวางแผนในการจัดการเรื่องน้ำโดยจะมีการวางแผนการสร้างเขื่อนคอนกรีตในพื้นที่ต่างๆ แทนเขื่อนดินนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นทางเลือกที่สำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาลควรใช้เขื่อนที่ทำจากยางพาราแทนเขื่อนดินหรือเขื่อนคอนกรีต
ทั้งนี้ เนื่องจากเขื่อนหรือฝายที่ทำจากยางพารานั้น มีคุณสมบัติพิเศษ ทั้งสามารถควบคุมอัตราการไหลของน้ำได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงจึงช่วยป้องกันการซึมผ่านของน้ำและการกัดกร่อนของสารเคมีที่ติดมากับน้ำได้ดี สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำ ตามความต้องการและตามปริมาณของระดับน้ำ มีอายุการใช้งานนานประมาณ 25 ปี และสามารถประหยัดต้นทุoค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเขื่อนคอนกรีต
ปัจจุบันมีการใช้ที่ฝายยางจันทบุรี จ.จันทบุรี, ฝายจระเข้สามพัน อ.อู่ทอง และฝายป่าสะแก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี และฝายอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ผ่านมาประเทศจีนได้มีการใช้เขื่อนหรือฝายยางและประสบความสำเร็จมานานแล้ว ทั้งนี้ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะจะได้มีการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ในพื้นที่ เพื่อนำเสนอต่อ ครม.เร็วๆ นี้