นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในอยุธยา ยังร่อแร่ แรงงานซับคอนแทร็กต์ ถูกปลดไม่รู้ตัว-จ่ายเงินเดือนแค่ครึ่ง อนาถชาวบ้าน กรุงเก่าน้ำท่วมมิดหลังคาชั้นสองได้ค่าชดเชยแค่พันสี่ แต่เป็นค่าชดเชยน้ำท่วมปี 53
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2554 โครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพบว่า ใน 2 พื้นที่ดังกล่าว ยังมีระดับน้ำท่วมสูงอยู่ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร หลายโรงงานยังไม่สามารถเข้าไปกู้กิจการของตัวเองได้ สำหรับในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 400 แห่ง มีคนงานไม่ต่ำกว่า 170,000 คน มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท นั้น แม้บริเวณภายนอกนิคมอุตสาหกรรมระดับน้ำจะลดลงหมดแล้ว แต่ภายในยังมีน้ำท่วมสูงอยู่ บางจุดยังท่วมสูงถึง 1.5 เมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรมนวนครนั้น ได้มีคนงานจากหลายโรงงาน ได้เดินทางมาถามข่าวคราวสถานภาพและสถานการณ์ภายในโรงงานของตัวเอง โดยส่วนใหญ่ต่างแสดงความกังวลว่า ในอนาคตโรงงานจะเสียหายจนไม่สามารถประกอบการได้อีกต่อไป อาจจะถูกเลิกจ้างได้ ทั้งนี้ มีหลายโรงงานได้แจ้งข่าวคราวแก่พนักงานผ่านเอสเอ็มเอส ในโทรศัพท์มือถือ เช่น ให้เข้าไปช่วยกอบกู้โรงงาน หรือแจ้งว่า ในช่วงที่โรงงานหยุดประกอบการนั้นโรงงานขอจ่ายเงินเดือนไม่เต็มเดือน ซึ่งมีตั้งแต่ จ่าย 50-75% หรือบางโรงงานก็ถือโอกาสเลิกจ้างคนงานไปเลย
น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ในช่วงน้ำท่วม คือ กลายเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด มาเช่าห้องอยู่ เมื่อน้ำท่วมรายไหนที่ยังไม่กลับบ้าน มักจะไม่ค่อยได้รับถุงยังชีพ เพราะผู้นำในชุมชนเมื่อจะไปรับถุงยังชีพจะรับตามจำนวนบ้านเลขที่ซึ่งคนงานเหล่านี้จะไม่ระบุว่ามีบ้านเลขที่ เพราะอยู่ห้องเช่า หลายคนต้องอดมื้อกินมื้อมาตลอด
นอกจากนี้ เมื่อน้ำลดแล้วก็ต้องรับข่าวร้ายอีก เพราะหลายโรงงานจ่ายเงินเดือนไม่เต็มเดือน หรือบางโรงงานที่เป็นบริษัทซับคอนแทร็กต์ให้โรงงานใหญ่ ให้พนักงานมาเซ็นหนังสือลาออกเอง โดยบอกว่าจะต้องปิดบริษัทก่อน แล้วจะเปิดบริษัทใหม่ ทั้งนี้ จะรับพนักงานเก่ากลับเข้าทำงานใหม่ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเซ็นหนังสือลาออกก่อน
“มีกรณีแบบนี้เยอะมาก เราจึงกลัวว่า คนงานเหล่านี้จะโดนหลอก ให้ลาออกฟรีๆ โดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เพราะเป็นการลาออกโดยสมัครใจบริษัทไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้จากการสอบถามคนงานหลายคนว่าทำไมยอมเซ็น ได้รับคำตอบว่า ถ้าไม่เซ็นลาออกเสียก่อนต่อไปโรงงานจะไม่รับกลับทำงานอีก จึงอยากให้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกมาดูแลคนงานในเรื่องนี้ด้วย คาดว่ามีคนงานเกือบแสนคนเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่มีปัญหาแบบนี้” น.ส.สุธาสินี กล่าว
น.ส.สายทอง มีมาก อายุ 33 ปี พนักงานในโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ให้สัมภาษณ์ว่า ปกติเป็นพนักงานรายเดือน ของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์แห่งหนึ่ง มีเงินเดือนๆ ละ 6,600 บาท โรงงานประกาศหยุดงานตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ตนจึงกลับไปอยู่บ้านที่ จ.กำแพงเพชร ช่วงแรกก็ได้รับเงินเดือนเต็มเดือน แต่ต่อมาก็ได้รับแจ้งทางเอสเอ็มเอส ว่า จะได้รับเงินเดือนแค่ 75% เท่านั้น และไม่แน่ว่าในเดือนต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ทราบมาว่าพนักงานที่เป็นรายวันนั้นถูกปลดออกหมดแล้ว ทุกคนลำบากมาก ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกันน้ำในโรงงานก็ยังสูงอยู่ ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อน้ำลดแล้ว จะยังเปิดทำการหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เข้าไปสำรวจในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ก็พบว่า ระดับน้ำยังท่วมสูงอยู่เช่นกัน โดยบางแห่งยังสูงเกือบ 2 เมตร อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดระดับลงมาแล้ว ก็มีพนักงานทยอยเข้าไปเก็บล้างทำความสะอาดภายในโรงงานแล้ว
นายสว่าง แก้วลออ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท คุมิ จำกัด กล่าวว่า ได้ทยอยบอกคนงานที่สามารถเข้ามาในโรงงานได้ ให้เข้ามาช่วยทำความสะอาดโรงงานเท่าที่ทำได้ก่อน มีคนงานของโรงงานเอง รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียงเข้ามาช่วยบ้าง
“เราก็พยายามเต็มที่ที่จะช่วยกันฟื้นฟูโรงงานให้กลับมาเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด ยอมรับว่า มันยาก เพราะโรงงานเราจมน้ำมาเกือบสองเดือน ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม น้ำสูงสุดอยู่ที่ 5 เมตร ซึ่งหนักหนาสาหัสมาก จากเดิมที่พวกเราคาดการกันไว้เพียง 50-100 เซนติเมตรเท่านั้น ถือเป็นความเสียหายที่ยังไม่สามารถประเมินได้ สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสหรัตฯนั้นเป็นพื้นที่แรกที่ถูกน้ำท่วม และคงเป็นที่สุดท้ายที่น้ำจะลด เพราะเวลานี้รัฐบาลยังไม่เข้ามาช่วยเหลืออะไรเลย แต่ละโรงงานต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง อาจจะคิดว่าเป็นนิคมขนาดเล็ก จึงให้ความสำคัญน้อย แต่ไม่ว่าจะมีโรงงานกี่แห่งรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะเวลานี้นักลงทุนต่างชาติต่างจับตามอง เรื่องความจริงใจของรัฐบาลที่จะกอบกู้สถานการณ์น้ำท่วมให้ผู้ลงทุน” นายสว่าง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่กลุ่มผู้สื่อข่าวกำลังทำข่าวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครนั้น ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง มาจากบ้านปากจั่น ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมอย่างหนัก และจนถึงวันนี้ในบางพื้นที่น้ำยังไม่ลดลงเลย
ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มนี้ใช้เวลาว่างในขณะที่ยังทำงานไม่ได้มารับจ้างทำความสะอาด เก็บขยะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร โดยชาวบ้านกลุ่มนี้แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า ทางผู้ใหญ่บ้าน บ้านปากจั่น แจ้งกับชาวบ้าน ว่า ให้คนที่บ้านถูกน้ำท่วมไปรับเงินค่าชดเชย แต่เมื่อไปรับปรากฏว่าเป็นเงินค่าชดเชยน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2553 ไม่ใช่ปี 2554
นางสมบุญ ขันธรูจี อาชีพทำโรงอิฐ ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคาบ้านชั้นสอง เป็นเวลา 2 เดือน กล่าวว่า ผู้ใหญ่บ้านมาแจ้งให้ไปรับเงินชดเชย พวกตนจึงไปรับกันปรากฏว่า ในเอกสารบอกว่า เป็นเงินชดเชยจากน้ำท่วมบ้านตั้งแต่ปี 2553 ตอนแรกนึกว่าพิมพ์ผิด แต่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ เป็นของปี 2553 จริงๆ โดยเจ้าหน้าที่ บอกว่า เงินชดเชยของปี 2554 ยังมาไม่ถึง
“ปีที่แล้วบ้านป้าก็ท่วมแบบนี้แหละ มันอยู่ใกล้แม่น้ำ ท่วมถึงชั้นสองเป็นประจำ เขาก็ให้เงินชดเชยมา 1,400 บาท บ้านท่วมทั้งหลังนะคะ มิดหลังคาทั้งสองปีเลย ตอนแรกที่ผู้ใหญ่มาแจ้งแอบดีใจว่าอย่างน้อยได้ค่าซ่อมบ้านมาซัก 50% หรือราว สามสี่หมื่นก็ยังดี แต่เห็นตัวเลขแล้วพูดไม่ออก ของป้าถือว่ามากแล้วนะ บางคนได้ 600 หรือ 700 บาทยังมีเลย ป้าให้ลูกไปรับ ลูกบอกว่า ต้องถ่ายเอกสารบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน อย่างละ 4 ใบ และบอกว่า เงินปีนี้ยังไม่มา มาเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบอีกที เห็นบอกว่าจะได้ 5,000 บาท แต่ไม่มีใครหวังว่าจะได้แล้วล่ะ อาจจะได้ก็คงเป็นปีหน้า เพราะของปีที่แล้วยังได้ปีนี้เลย” นางสมบุญ กล่าว