xs
xsm
sm
md
lg

เฮ ปรับค่าแรง 300 บ.มีผล 1 ม.ค.55

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงาน ชี้ ปรับค่าจ้าง 300 บ.ภายใน ต.ค.นี้ บังคับใช้ 1 ม.ค.ปีหน้า เร่งเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าชี้แจงผลกระทบค่าจ้าง 300 บ.ช่วง พ.ย.-ธ.ค.นี้ เพื่อเข้าเยียวยา-สกัดผู้ประกอบการแอบอ้าง สั่งแรงงานจังหวัดทุกแห่ง ทำความเข้าใจนโยบาย 300 บ.กับคณะอนุกรรมการค่าจ้างทั่ว ปท.พร้อมดันโมเดลพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานเข้าใหม่ และที่ทำงานอยู่เดิม เพื่อพัฒนาศักยภาพก่อนรับค่าจ้าง 300 บ.ด้านสภาหอการค้าฯรับหลักการ แต่ต้องตั้งคณะศึกษาร่วมกันเพื่อพัฒนาให้ตรงตามสาขาอาชีพต่อไป

วันนี้ (20 ก.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้วันละ 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล ว่า จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้โดยจะให้บังคับใช้ภายในวันที่ 1 ม.ค.2555 ซึ่งระยะเวลา 2 เดือนในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ปีนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เข้าชี้แจงถึงผลกระทบเพื่อร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือ เพื่อเป็นการสำรวจผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงและสกัดผู้ประกอบการที่แอบอ้างเพื่อเข้ารับความช่วยเหลือทั้งที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยังแรงงานจังหวัดทุกแห่งไปทำความเข้าใจกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างทั่วประเทศในเรื่องความจำเป็นในปรับขึ้นค่าจ้างและมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่จะส่งตรงไปถึงผู้ประกอบการโดยเฉพาะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีหน้า ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วหากสถานประกอบการใดมีต้นทุนแรงงาน 15% การลดภาษีนิติบุคคล 7% จะช่วยชดเชยส่วนต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆที่รัฐบาลเตรียมช่วยเหลือเช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ การพัฒนาฝีมือแรงงานของสถานประกอบการซึ่งได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 2 เท่าตาม พ.ร.บ.พัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545

นพ.สมเกียรติ ยังกล่าวถึงผลการหารือกับตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเห็นด้วยกับแนวคิดปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ทุกจังหวัดในช่วงเดือนม.ค.2555 และทำให้ครบ 300 บาทต่อวันในภายในปี 2555 ซึ่งมั่นใจว่าหากผ่านระยะแรกไปได้ในการทำระยะที่สองก็ทำได้ไม่ยาก

“ยอมรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันของคณะกรรมการไตรภาคี อาจจะมีปัญหาในการเคาะตัวเลขสุดท้าย แต่เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องปรับขึ้นค่าจ้างให้ได้ 300 บาทต่อวัน ก็จำเป็นต้องหาข้อยุติโดยใช้วิธีการโหวตลงคะแนน แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่เคยทำมาก่อนก็ตาม” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า จากการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานรองรับการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทภายในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำโมเดลพัฒนาฝีมือแรงงานก่อนเข้าทำงานเพื่อรับค่าจ้าง 300 บาท โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกแรงงานเข้าใหม่ตั้งเป้าหมายไว้ 60,000 คน ใช้เวลาอบรม 15 วัน ค่าใช้จ่าย 2,200 บาทต่อคน แยกเป็นค่าวัสดุ 200 บาท ค่าอาหาร 1,800 บาท และค่าบริหาร 200 บาท กลุ่มที่สอง คือ แรงงานเก่าในสถานประกอบการ แต่ได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาท ตั้งเป้าไว้ 240,000 คน ใช้เวลาอบรม 5 วัน ค่าใช้จ่าย 1,000 บาทต่อคน แบ่งเป็นค่าวัสดุ 200 บาท ค่าอาหาร 600 บาทและค่าบริหาร 200 บาทโดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเพียงโมเดลซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าผู้ประกอบการพอใจหรือไม่ จะต้องให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาไปหาข้อสรุปต่อไป

นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ให้มีความชัดเจนมากกว่าใช้วิธีการโหวตหักคอขึ้นค่าจ้างในระบบไตรภาคี แม้ว่าจะสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่จะไม่ส่งผลต่อดีต่อภาพรวมของธุรกิจ

ทั้งนี้ หากจะมีการพัฒนาฝึกอบรมให้แรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับค่าจ้าง 300 บาทหรือเพื่อช่วยลดการสูญเสียของนายจ้างนั้น ปัจจุบันมีสมาคมวิชาชีพ 115 สมาคม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะดึงกลุ่มสมาคมวิชาชีพมาหาทางแนวทางร่วมกัน รวมทั้งการให้หอการค้าจังหวัดทุกจังหวัดช่วยเผยแพร่ข้อมูลไปยังผู้ประกอบการ

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สภาหอการค้าไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะได้วางยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำรายได้ของแรงงานโดยมีแนวคิดจะพัฒนาผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพใน 9 กลุ่มได้แก่ ธุรกิจบริการและสุขภาพ สิ่งทอ ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจท่องเที่ยว อัญมณีและเครื่องประดับ ประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไอซีที การค้าชายแดน และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงแรงงานว่าจะโมเดลเตรียมความพร้อมแรงงานมาต่อยอดกับยุทธศาสตร์ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยอย่างไร ซึ่งหลักสูตร วิธีการและต้นทุนในการเตรียมความพร้อมควรให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

“โมเดลเตรียมความพร้อมของแรงงานยังมีช่องโหว่ที่อาจจะทำให้มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งที่ไม่ได้เดือดร้อนอย่างแท้จริงเพราะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เดือดร้อนและกลุ่มที่ไม่เดือดร้อน ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีที่เดือดร้อนเป็นกลุ่มไม่มีความพร้อมในการพัฒนาแรงงานซึ่งคาดว่ามีทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านคนเพราะไม่มีความรู้ เครื่องมือและสวัสดิการที่จะดึงแรงงานเก่งๆเอาไว้ได้ ฝึกแรงงานมาเท่าไหร่ก็โดนซื้อตัวไปหมด ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังตามโมเดลนี้คือ จะเป็นการช่วยธุรกิจที่ไม่เดือดร้อนแทน และรู้สึกห่วงงบประมาณที่จะนำมาใช้ว่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า โมเดลพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องมองไปถึงแรงงานที่มีค่าจ้างมากกว่า 300 บาต่อวันด้วย เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้กว่าจะได้รับค่าจ้างเกินกว่า 300 บาท จะต้องผ่านการฝึกทักษะมาหลายปีในขณะที่แรงงานที่เตรียมความพร้อมแค่ 15 วันก็ได้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวันแล้ว จะส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจ และมีผลต่อการบริหารจัดการคนในอนาคต

นายธีระ เพชรพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส อี พี เวิล์ดไวด์ จ.พังงา ซึ่งเป็นบริษัทโรงเลื่อยและโรงอบไม้ยางพารา กล่าวว่า ผู้ประกอบการในจ.พังงาส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นเป็นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเข้มแข็งไม่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว และเชื่อว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยลดปัญหาสังคมต่างๆได้ ทั้งนี้ บริษัทฯจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค.2555 ซึ่งปัจจุบันลูกจ้างที่มีอยู่ 300 คนได้ค่าจ้างวันละ 220 บาท มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 186 บาทต่อวัน และนอกเหนือจากค่าจ้างแล้วยังมีสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร

“หากมีการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน ก็มีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ต้องยอมรับค่าครองชีพสูงขึ้น จึงต้องปรับค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีความเข้มแข็ง จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโดยส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้ความรู้ในการบริหารจัดการแรงงานแต่ละประเภทกิจการ รวมทั้งให้มีการฝึกทักษะฝีมือให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการเพื่อให้แรงงานไร้ฝีมือได้มีฝีมือเพื่อให้ได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ” นายธีระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น