“อุทุมพร” ติง สทศ.ใช้ข้อสอบโอเน็ตปรนัย 4-5 ตัวเลือกจะวนเข้าสู่ปัญหาเดิม เด็กใช้วิธีทิ้งดิ่งด้วยการเดาคำตอบเดียวหลายๆ ข้อ ทำให้คะแนนไม่สะท้อนความสามารถ ยันข้อสอบฉบับสั้นเชื่อถือได้ เพราะออกตามมาตรฐานหลักสูตร ปี 44 พร้อมวอนบอร์ด สทศ.ทบทวนมติใหม่
กรณีที่คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (โอเน็ต) ที่มีหลายรูปแบบมาเป็นข้อสอบแบบปรนัย 4-5 ตัวเลือก และมีมติให้ยกเลิกข้อสอบโอเน็ตฉบับสั้นที่ใช้สอบกับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น
ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน อดีตผู้อำนวยการ สทศ. ในฐานะที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการแผ่นดิน (สผผ.) กล่าวว่า ตนอยากขอให้บอร์ด สทศ.ทบทวนการเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบดังกล่าว เนื่องจากช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งตนดำรงตำแหน่ง ผอ.สทศ.นั้น ได้พยายามศึกษาว่าข้อสอบของ สทศ.มีจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง ซึ่งก็พบว่าข้อสอบแบบปรนัย 4-5 ตัวเลือก มีปัญหาการเดา และนักเรียนจะใช้วิธีทิ้งดิ่ง หมายถึงเลือกตัวเลือกเดียวทุกข้อ เช่น ข้อสอบ 100 ข้อ หากนักเรียนใช้วิธีการทิ้งดิ่งก็จะมีโอกาสถูกประมาณ 25 ข้อ เป็นต้น ทำให้ผลคะแนนที่ได้จึงไม่สะท้อนความสามารถจริง
ด้วยเหตุนี้ ต่อมา สทศ.จึงเปลี่ยนข้อสอบให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เช่น มีบทความให้อ่านและตั้งคำถามให้ตอบ หรือการออกข้อสอบแบบเชื่อมโยงเพื่อเน้นให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ก่อนตอบ เป็นต้น ซึ่งปรากฎว่าการใช้ข้อสอบรูปแบบที่หลากหลายนั้นทำให้ สทศ.สามารถวัดความสามารถนักเรียนได้จริง เพราะฉะนั้น รู้สึกเป็นห่วงและเสียดายหากบอร์ด สทศ.จะปรับกลับไปเป็นข้อสอบปรนัยแบบ 4-5 ตัวเลือก โดยหากกลับไปใช้แบบเดิมนั้นผู้ออกข้อสอบต้องระวัง เรื่องของการเดาถูก และในที่สุดคะแนนจะเชื่อถือไม่ได้ สุดท้ายปัญหาก็จะวนกลับไปที่เดิม คือ นักเรียนไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า ในส่วนเรื่องการใช้ข้อสอบฉบับสั้นเพื่อสอบนักเรียนชั้น ป.6 และม.3 เนื่องจากในขณะนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่มีการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้พัฒนาคุณภาพอย่างเต็มที่ สทศ.จึงเห็นว่า เราน่าจะประหยัดเวลาโดยการใช้ข้อสอบฉบับสั้น แต่ยืนยันว่าเชื่อถือได้เพราะการออกข้อสอบฉบับสั้น สทศ.ออกตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ซึ่งมี 76 มาตรฐานเพื่อวัดความรู้ของนักเรียนว่าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่เท่านั้น แต่กรณีที่ สพฐ.จะนำคะแนนไปใช้ประโยชน์นั้นก็ต้องออกข้อสอบเป็นฉบับยาว ซึ่ง สทศ.ได้บอกต้นสังกัดว่าหากต้องการนำคะแนนไปใช้ประโยชน์ก็พร้อมจะจัดสอบโอเน็ตฉบับยาวให้ ซึ่งตนอยากให้ สพฐ.ประกาศให้ชัดเจนว่าจะใช้ประโยชน์จากคะแนนโอเน็ตในรูปแบบใด
“ส่วนการสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือPAT ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ สทศ.จัดสอบเพื่อใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องและน่าจะมีการศึกษาต่อว่านักเรียนที่เข้าเรียนโดยผ่านการสอบ GAT/PAT สามารถที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้อย่างประสบความสำเร็จหรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้สทศ.ทำข้อสอบวัดความถนัดให้ดีและตรงเพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่อไป”ศ.ดร.อุทุมพร กล่าว