xs
xsm
sm
md
lg

เสนอใช้คะแนนสอบ O-NET/GPAX คัด นร.ม.1 ม.4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เสียงส่วนใหญ่เสนอคัด นร.ม.1 ม.4 ใช้คะแนนสอบ O-NET/GPAX เป็นองค์ประกอบหลัก “ชินภัทร” ชี้ผลตอบรับเกินคาดหวังจากเดิมที่ให้ใช้สัดส่วน O-NET 10% แต่ที่ประชุมเสนอสัดส่วน 20%, 25% มากสุดถึง 50% รอสรุปสัดส่วนที่ชัดเจนอีกครั้งแต่เบื้องต้น คาดว่า จะทำหลักเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้ ร.ร.นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของ ร.ร.เอง

ที่โรงแรมปริ๊นพลาเลซ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมเสวนาระดมความเห็นเรื่อง “การใช้ O-NET เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ” มีนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดงานและบรรยายพิเศษ และมี รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถานบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ร่วมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับรูปแบบและการบริหารการทดสอบระดับชาติ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียนร่วมประชุมประมาณ 150 คน

ในการเสวนามีผู้ให้ความเห็นหลากหลาย โดย นายโชว์นันต์ มารุตวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทร์เดชา กล่าวว่า ขอเสนอว่าหากนำคะแนน O-NET มาใช้ควรจะกำหนดสัดส่วนดังนี้ คะแนน O-NET 25% คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร GPAX 25% และสอบคัดเลือก 50% ทั้งนี้ การเสนอให้ใช้สัดส่วน O-NET 25%,GPAX 25% เพราะมองว่าจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนตื่นตันตั้งใจในการสอบและการเรียนเพื่อพัฒนาตนเองเพราะคะแนนจะมีผลต่อการเรียนต่อ ม.1 และ ม.4

นายประกาศิต ยังคง ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ กล่าวว่า ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารโรงเรียนท่านอื่นๆ เห็นตรงกันว่า การใช้คะแนน O-NET มาคัดเลือกเพื่อเรียนต่อเป็นเรื่องที่ดี โดยมองว่าหากใช้ในระดับม.1 นั้นควรกำหนดสัดส่วน ดังนี้ O-NET 20% GPAX 20% และสอบคัดเลือก 60% ขณะที่ชั้นม.4 ให้เป็นการสอบคัดเลือกทั่วไป 50% คุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ 10% โอเน็ต 20% และGPAX 20% สาเหตุที่ต้องให้ ม.1 ใช้การสอบ 60% เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่ได้คะแนนโอเน็ตสูงสามารถใช้การสอบเป็นช่องทางเข้าเรียนต่อได้

ด้าน นายสุรพงษ์ งามสม ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กล่าวว่า ตนมีประสบการณ์การสอนในโรงเรียน English Program : EP และ Mini EP ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ มองว่าคะแนน O-NET นั้นมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพจัดการศึกษา ดังนั้น เห็นด้วยหากจะนำมาใช้แต่ขอให้ สพฐ.กำหนดให้ชัดเจนว่าโรงเรียนจะต้องนำคะแนนมาใช้ หรือว่าสามารถเลือกนำคะแนนมาใช้ได้ เพื่อโรงเรียนจะได้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติและสร้างความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง

นายชินภัทร กล่าวภายหลังการเสวนาว่า จากการระดมความคิดเห็นทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการนำคะแนน O-NET ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาคุณภาพ และให้มีผลต่อการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 โดยในแง่ของสัดส่วนการคัดเลือกที่ประชุมเสนอให้มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ คะแนนสอบคัดเลือก, GPAX และO-NET อย่างไรก็ตาม การเสวนาครั้งนี้ สพฐ.ได้ข้อเสนอที่หลากหลายอีกทั้งเป็นข้อเสนอที่เกินกว่าความคาดหวัง เพราะเดิมที สพฐ.กำหนดตุ๊กตาเบื้องต้นไว้ว่าจะใช้คะแนน O-NET เพียง 10% แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่เสนอในสัดส่วน 20% 25% และ 50% ดังนั้น ทำให้มั่นใจว่าโรงเรียนพร้อมที่จะนำคะแนนไปใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกนักเรียนจากนี้สพฐ.อาจจะต้องไปกำหนดเกณฑ์กลางสัดส่วนต่างๆ เพื่อให้โรงเรียนนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยจะต้องเป็นเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น

ด้าน นายสัมพันธ์ กล่าวว่า ยินดีที่สพฐ.มีนโยบายให้โรงเรียนนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารสทศ.มีมติไปแล้วว่าจะจัดสอบ O-NET ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ม.6 โดยข้อสอบจะออกตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 ใน 6 วิชา โดยเน้นใน 5 หลัก ได้แก่ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและสังคมศึกษา ส่วนอีกหนึ่งวิชาจะร่วมกันระหว่างกลุ่มสาระสุขศึกษาและพบศึกษา/ ศิลปะ/ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ศิลปะ โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าภายในปี 2561 เด็กไทยจะต้องได้คะแนนโอเน็ตใน 5 วิชาหลักไม่ต่ำกว่า 50% โดยข้อสอบ แต่ละวิชาไม่เกิน 2 รูปแบบ คือรูปแบบที่ 1 ข้อสอบแบบปรนัย แบบเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด 1 คำตอบ มี 4 ตัวเลือก ใช้สอบนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ส่วนชั้น ม.6 จะมี 5 ตัวเลือก และรูปแบบที่ 2 ข้อสอบปรนัยแบบเติมคำตอบ หรือ เลือกคำตอบมากกว่า 1 คำตอบ ข้อสอบเชื่อมโยง แต่สัดส่วนจำนวนข้อสอบจะต้องไม่เกิน ร้อยละ 20 ของข้อสอบในวิชานั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น