xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ตีปี๊บใช้ O-NET รับ นร.ปีหน้า - “ชินภัทร” โยนข้อสอบมีจุดอ่อนทำเด็กมึน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.
“ชินภัทร” ก้มหน้ารับสภาพ O-NET ตกต่ำ โยน สทศ.ปรับแนวข้อสอบ ชี้ คำตอบปรนัยหลายชั้น เด็กลากเลือดกว่าจะได้คะแนน บางข้อลำเอียงเด็กในเมืองยิ้ม ส่วนเด็กชนบทนั่งกุมขมับ ระบุ ข้อสอบฉบับสั้นควบกลุ่มสาระมากเกินไป วัดผลยาก เตรียมวางเกณฑ์หาผู้รับผิดชอบทุกระดับ ตีปี๊บรับนักเรียน ม.1-ม.4 ปีหน้า ใช้สัดส่วน O-NET ร่วมด้วยชัวร์ หวังจูงใจเด็กตั้งใจสอบ

วันนี้ (12 เม.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ยอมรับผลการประเมินจากการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ครั้งล่าสุด โดยขณะนี้จากการวิเคราะห์ พบว่า มีวิชาที่ได้คะแนนต่ำ 3 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ ซึ่งในรายละเอียด สพฐ.จะไปวิเคราะห์หาจุดอ่อนมาปรับปรุงกระบวนการ เพื่อยกระดับคุณภาพต่อไป อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้มีการวิเคราะห์ในเชิงของแบบทดสอบเพื่อนำเสนอต่อสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ปรับปรุงในปีต่อไปในทางเทคนิค คือ รูปแบบข้อสอบ ซึ่งถือเป็นเจตนาดีของ สทศ.ที่ออกข้อสอบปรนัย เพื่อหวังจำแนกเด็กที่รู้และเดา โดยต้องตอบคำถามมากกว่า 1 คำตอบจึงจะได้คะแนน เป็นปรนัยหลาย 2-3 ชั้น ทั้งๆ ที่เด็กบางคนรู้คำตอบครึ่งหนึ่งแต่กลับไม่ได้คะแนน จึงเป็นข้อเสนอที่คิดว่าหากเด็กมีความรู้ส่วนหนึ่งก็ควรจะได้คะแนนบ้าง อีกทั้งรูปแบบการสอบดังกล่าวเด็กยังไม่คุ้นเคย ยังตื่นสนามสอบ โดย สพฐ.จะพยายามให้โรงเรียนพัฒนารูปแบบข้อสอบให้มีเทคนิคคล้ายๆ กับที่ สทศ.ใช้ แต่มิได้เป็นการติวเพื่อสอบ

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้อสอบบางข้อมีความลำเอียงเชิงวัฒนธรรม เป็นคำถามสำหรับเด็กในเมือง หรือเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง จนถึงดี ซึ่งเด็กจากต่างจังหวัด หรือชนบท ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ เช่น ข้อสอบถามถึงกิจกรรมบัลเล่ต์ ซึ่งเด็กต่างจังหวัดอาจไม่เข้าใจคำถาม สำหรับการออกข้อสอบฉบับสั้นเพื่อให้ประหยัดเวลา โดยมีข้อสอบน้อยข้อต่อ 1 มาตรฐาน ซึ่งไม่สามารถตัดสินได้ว่าเด็กรู้ตามมาตรฐานนั้นๆ ได้จริงหรือไม่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการสรุปผล นอกจากนี้ ในการรวมข้อสอบหลายกลุ่มสาระไว้ในฉบับเดียวกันนั้นยังทำให้เด็กติดกับในการทำข้อสอบ เพราะใช้เวลาในการทำข้อแรกนาน ซึ่งหากเด็กบริหารจัดการเวลาไม่เป็นก็จะทำไม่ทัน จึงจะเห็นได้ว่า ในบางกลุ่มสาระเด็กได้คะแนนศูนย์หลายหมื่น หลายแสนคน

“เราไม่ได้แก้ตัว และไม่ได้ไม่รับกับผลการประเมินที่ออกมา แต่จะเอาจุดอ่อนทั้งหมดเสนอต่อ สทศ.ให้ปรับปรุง ซึ่งในปีการศึกษา 2554 นี้ สพฐ.จะดึง สทศ.เข้ามาร่วมกันในกระบวนการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดย สทศ.ต้องรับรู้ทั้งเรื่องของหลักสูตร จุดเน้นนโยบาย และการแปลงหลักสูตร จุดเน้นต่างๆ สู่การเรียนการสอน จนถึงการประเมินผล ไม่ใช่แค่กางหลักสูตรแล้วมาออกข้อสอบ แต่ต้องนำจุดเน้นต่างๆ มาให้ค่าน้ำหนักด้วย ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะดำเนินการร่วมกันต่อไป”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ผลจากการประเมินคะแนน O-NET จะต้องมีผู้รับผิดชอบในทุกระดับ ทั้งจากสำนักส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับวิชาการที่ต้องมีการวิเคราะห์คะแนน มีแผนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียน ในส่วนเขตพื้นที่การศึกษาต้องรับผิดชอบคะแนนของสถานศึกษาภายในเขต ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องรับผิดชอบคะแนนของโรงเรียน และครูก็ต้องรับผิดชอบคะแนนของนักเรียนที่อยู่ในการดูแล ทั้งนี้ สพฐ.จะตั้งตัวชี้วัดเพื่อประเมินความก้าวหน้าในทุกระดับ โดยสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ต้องวางแนวทางรับผิดชอบในทุกระดับให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จะได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการประเมินโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA เพื่อเตรียมการสำหรับการประเมินในปี 2012 ด้วย

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ. จะมอบให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) สพฐ.วิเคราะห์ถึงแนวทางการรับนักเรียนในปีหน้า โดยจะต้องใช้คะแนน O-NET มาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการรับนักเรียนเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 โดยการรับนักเรียนจะไม่ใช่แค่สอบ หรือจับสลากเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องใช้คะแนน O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งในสัดส่วน 10-50% โดยจะมีการกำหนดสูตรอีกครั้งหนึ่ง และจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจสอบ O-NET มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น