xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาปฏิรูปฯ “ครู-หลักสูตร” แรงกระเพื่อม O-NET ตกต่ำ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อเลยว่า ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ปีการศึกษา 2553 (ก.พ.2554) ที่เพิ่งประกาศออกมาสดๆ ร้อนๆ คงสร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการการศึกษาไทยได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะในการก้าวสู่ปีที่ 3 แห่งการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ที่ตั้งธงหวังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้เด็ก “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” นั้น คงไกลนักที่จะเห็นเป็นรูปธรรม เพราะจากคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศระบุชัดว่าตกต่ำ 3 ปีติดต่อกัน โดยเฉพาะคะแนนวิชาหลัก คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่ได้ไม่ถึง 50% หรือน้อยกว่านั้น

จากผลคะแนนที่ออกมาทำให้นักเรียนหลายต่อหลายคนต้องเดินคอตก เพราะนั่นหมายถึงว่าพวกเขากำลังเสียความมั่นใจต่อคะแนนที่ได้รับ ซึ่งเป็นอาการเดียวกันที่ “เบนซ์” ธีรภพ กิจเดชากรณ์ ชั้นม.6 จาก ร.ร.เทพศิรินทร์ พบเจอ โดยเบนซ์ เล่าว่า ก่อนสอบเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี โดยฝึกทำโจทย์ O-NET เก่าๆ แต่ผลปรากฎว่าข้อสอบกลับผิดคาดอย่างที่เตรียมตัวมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อสอบที่เปลี่ยนไป อย่าง คณิตศาสตร์ ในเวลา 2 ชั่วโมงจากเดิมเป็นอัตนัย 3 ข้อ ปรนัย 37 ข้อ แต่ปีนี้กลายเป็นครึ่งต่อครึ่ง คือ 20 : 20 ซึ่งหากพลาดคำตอบอัตนัยเพียงแค่ 0.01 ก็จะไม่ได้คะแนนเลย ตรงนั้นถือว่ามีค่ามาก ส่วนภาษาอังกฤษ เดิมมี 4 ตัวเลือก แต่นี่เพิ่มเป็นต้องเลือก 1 ใน 16 ตัวเลือก โอกาสที่จะได้คะแนนก็ได้ยากขึ้น

“เราไม่ได้เรียนเจาะลึกมากขนาดนั้น และไม่ได้ต้องการข้อสอบแข่งขันอย่างโอลิมปิก เพราะสอบไปเพื่อนำความรู้จากที่เรียนมาไปใช้ในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น จึงอยากให้ออกแบบเข้าใจเด็กมากกว่า นอกจากวิเคราะห์ข้อสอบแล้ว ยังต้องวิเคราะห์คำตอบที่ลึกเกินไป เด็กจึงเครียดมากกับรูปแบบข้อสอบในปีนี้” เบนซ์ ให้ภาพ

ไม่ต่างกับ “ขวัญ” รังสิมา กาญจนเกศ ชั้นม.6 ร.ร.ราชวินิตบางแก้ว ที่บอกว่า การสอบครั้งนี้วิชาคณิตศาสตร์ทำไม่ได้เลย ถึงขั้นต้องส่งกระดาษคำตอบเปล่า ในส่วนของปรนัย ส่วนอัตนัยส่วนใหญ่ก็เดา ขณะที่วิชาภาษาอังกฤษ ที่ตั้งความหวังไว้มาก คะแนนก็ได้น้อยเช่นกัน ข้อสอบปีนี้เน้นการคิดวิเคราะห์ ทั้งเนื้อหาจากในโรงเรียนและนอกตำรา ซึ่งกระบวนการเรียนในห้องเรียน มีบ้างที่ตรง มีบ้างที่แตกต่างออกไป และถึงแม้จะไม่พอใจคะแนนเท่าไรแต่ก็ต้องยอมรับ
รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร
ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง “รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร” คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้สะท้อนจุดอ่อนสำคัญจนส่งผลให้คะแนน O-NET ตกต่ำว่า ปัญหาอยู่ที่ตัว “ครู” เพราะยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนให้ตรงกับเป้าหลักตามที่หลักสูตรแกนกลางต้องการได้ เนื่องจากสมรรถนะที่หลักสูตรแกนกลางต้องการนั้นเป็นสมรรถนะขั้นสูงเน้น คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ไม่ใช่แค่ระดับการจดจำ ซึ่งการจะออกแบบข้อสอบระดับสูงเช่นนี้ จึงต้องมาพร้อมกับการออกแบบการสอนที่สร้างสรรค์ แตกต่างไปจากเดิมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งครูยังถ่ายทอดไม่ถึง ตรงนี้สำหรับการสอนในห้องเรียนและการออกข้อสอบจากสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องมองหลักสูตรแกนกลางให้ตรงกันด้วย

“ที่บอกว่า เด็กทำข้อสอบไม่ได้นั้น เพราะข้อสอบ O-NET ไม่ได้วัดแค่ความรู้ ความจำธรรมดาๆ แต่มาจากความรู้ขั้นสูง ตรงนี้เองที่ระบบการเรียนการสอนยังพัฒนาไปไม่ถึง จึงต้องมาปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนกันใหม่ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญสำหรับรัฐบาล” คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา แนะ

รศ.ดร.มนตรี ชี้ให้เห็นอีกว่า อีกส่วนที่สำคัญ คือ หลักสูตรซึ่งนักวิชาการหลายคนพูดตรงกันว่า เหมือนกันตั้งแต่เด็กยันโต คือ 8 กลุ่มสาระ แต่ไม่ได้จัดตามพัฒนาการของเด็ก อย่างในเด็กประถมเอาแค่อ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว โดยตัวเด็กเองก็อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่จะจัดเงื่อนไขอย่างไรให้กับเขา ทั้งนี้ความพร้อมทุกอย่างนั้นเด็กไทยมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้เด็กเสียนิสัย ทำอะไรก็คัดลอกมาจากอินเทอร์เน็ต จนกระบวนการคิดไม่เกิด ดังนั้น ระดับนโยบายต้องมองปัญหา กำหนดประเด็นให้ชัด คิดทั้งระบบ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก คงต้องใช้เวลาอีกนานในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน และเชื่อว่าในระยะปฏิรูปฯ รอบ 2 นี้ อาจยังไม่เห็นผลเลยก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น