xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” โยน O-NET ต่ำ ผลพวงการสอนแบบเก่า ฟุ้งปี 55 คะแนนพุ่งแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“ชินวรณ์” โยนผลสัมฤทธิ์คะแนน O-NET ต่ำ ผลพวงการสอนแบบเก่า รับเป็นกระจกสะท้อนที่ดี เชื่อปีการศึกษา 2555 ผลสัมฤทธิ์การศึกษาเด็กไทยสูงขึ้น

วันนี้ (23 มี.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3 ประจำปีการศึกษา 2553 ผลปรากฏว่าทั้ง 5 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ซึ่งนักเรียนทั้ง 2 ช่วงชั้นได้คะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ป.6 เฉลี่ย 20.99 คะแนน และม.3 เฉลี่ย 16.99 คะแนน จึงสะท้อนถึงคุณภาพของโรงเรียน ว่า ผลการทดสอบดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการจัดการศึกษาก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบเดิมที่มุ่งเน้นแต่ความจำ ในขณะที่กระบวนการทดสอบของ สทศ.เป็นการวัดผลรอบด้านโดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบนโยบายให้ สทศ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกันศึกษากระบวนการประเมินผลแบบกัลยาณมิตรที่เน้นทั้งการประเมินผลสถานศึกษาและการประเมินผลนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น โดยหลังการประเมินต้องนำผลมาปรับปรุงการเรียนการสอนและหลักสูตรต่อไป นอกจากนี้ ตนเชื่อว่า หลังมีการเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนและจุดเน้นในแต่ละช่วงชั้นตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของปีที่ 2 หากเดินหน้าไปถึงปีที่ 3 ที่สามารถสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ รู้จักการวิเคราะห์ สังเคราะห์มากขึ้น

“เชื่อว่า ในปีการศึกษา 2555 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะสูงขึ้น โดยผล O-NET ดังกล่าวถือเป็นกระจกเงาที่ดีที่จะได้นำไปปรับปรุงให้ส่งผลต่อคุณภาพนักเรียน ทั้งในส่วนของ O-NET และการประเมินนานาชาติต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว

ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การประเมินดังกล่าวเป็นการประเมินโดยใช้ข้อสอบ O-NET ฉบับสั้นจึงสะท้อนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง เพราะแบบทดสอบมีข้อจำกัด ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้ดูเฉพาะค่าเฉลี่ยเพียงอย่างเดียวแล้วตัดสินว่าเด็กไทยสอบตก 5 วิชาหลักทั้ง 2 ช่วงชั้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความยากจน ความไม่พร้อมของเด็ก นอกจากนี้จากผลการวัดความสามารถทางสมอง (ไอคิว) ของเด็กไทย พบว่า มีเด็ก 59.8% ที่ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ดังนั้นผลการทดสอบที่ออกมาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามการพูดเรื่องดังกล่าวอาจจะมองเหมือนการแก้ตัว แต่ตนอยากให้พิจารณาในหลายมิติเพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยได้ขอให้ทาง สทศ.วิเคราะห์ผลการทดสอบในระดับรายนักเรียน พร้อมกันนี้ทาง สพฐ.ก็กำลังวิเคราะห์แยกเป็นรายกลุ่มสถานศึกษา อาทิ โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนดีประจำตำบล และโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ซึ่งหากพบว่าโรงเรียนชั้นนำที่มีเด็กเก่งๆ ผลการประเมินตกต่ำลงก็คงเป็นเรื่องที่น่าตกใจ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการที่ สพฐ.มีจุดเน้นในแต่ละช่วงชั้นที่ชัดเจน มีการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีการช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่มีความพร้อม และเร่งพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้ได้มาตรฐาน จะทำให้ผลสอบโอเน็ตของเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น