เอเอฟพี - ผลสำรวจฯ เคยระบุว่าปี 2552 นักเรียนเซี่ยงไฮ้ถือเป็นหัวกะทิแนวหน้าของโลก แต่ทว่านักวิชาการการศึกษาตอนนี้กลับไม่ปลื้มปีติเท่าใดนัก และยืนยันว่า การศึกษาจีนยังเน้นการท่องจำและทำข้อสอบเพื่อสอบเข้าเรียนต่อ โดยยังไม่ก้าวไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ
องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เคยรายงานผลการสำรวจของโครงการประเมินศักยภาพด้านการศึกษาของนักเรียนนานาชาติ (PISA) ประจำปี 2552โออีซีดีได้สำรวจผลการเรียนในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอายุ 15 ปี ของประเทศจีนและเขตเศรษฐกิจ 65 แห่ง โดยผลสำรวจพบว่า เด็กนักเรียนมัธยมจากนครเซี่ยงไฮ้มีผลการศึกษาโดดเด่นสุดในโลก โดยทำคะแนนนำสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ในทักษะต่างๆ อาทิ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม แม้ผลสำรวจจาก PISA จะบ่งชี้ว่าการศึกษาจีนก้าวล้ำไปมาก แต่นักวิชาการการศึกษาจีนดูจะไม่ยินดีกับชัยชนะนี้
ติง อี้ รองผู้อำนวยการเครือข่ายวิทยาลัยการศึกษาจิ้งอาน แห่งเซี่ยงไฮ้ เผยว่า “ตั้งแต่จีนเปิดประเทศ เราพบว่า เด็กนักเรียนต่างชาติสามารถคิดสร้างสรรค์และแก้ปัญหาชีวิตจริงได้ดีกว่าเด็กจีน เราจึงต้องมาคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้”
รัฐมนตรีศึกษาสหรัฐฯ อาร์น ดันแคนได้ชี้ว่า “เมื่อผลสำรวจระบุว่าการศึกษาสหรัฐฯ และยุโรปอยู่หลังจีน นี่เปรียบเสมือนนาฬิกาปลุกให้ตื่นขึ้นมาจริงจังด้านการศึกษากันได้แล้ว
เชสเตอร์ ฟิน อดีตนักวิจัยด้านการศึกษาของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เปรียบเทียบการศึกษาจีนเท่ากับ ยานอวกาศสปุตนิก ซึ่งสหภาพโซเวียตยิงขึ้นฟ้าเมื่อปี 2500 ส่งผลให้สหรัฐฯ หันมาศึกษาโครงการอวกาศอย่างจริงจัง
ขณะที่หย่ง เจ้า รองคณบดีด้านการศึกษาของโลก มหาวิทยาลัยออร์กอน ก็เขียนสรุปง่าย ๆ ในบล็อกของเขาว่า “เมื่อการคัดเลือกใช้คะแนนสอบเป็นหลัก ถ้าหากนักเรียนใช้เวลาทั้งหมดเตรียมตัวสอบ นักเรียนก็จะได้คะแนนที่โดดเด่นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นักเรียนเซี่ยงไฮ้จะได้คะแนนดี”
การวัดผลของ PISA จะมีสองส่วนคือการตอบแบบอัตนัย และคำถามปรนัย โดยเน้นให้นักเรียนเขียนอธิบายสถานการณ์ในชีวิตจริง เช่น คำถามคณิตศาสตร์ถามว่า “พิซซาชิ้นไหน มีมูลค่ามากกว่ากวัน ชิ้นแรก เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 ซม.ราคา 30 เหรียญ หรือชิ้นที่สอง เส้นผ่านศูนย์กลาง 40 ซม. ราคา 40 เหรียญ โดยนักเรียนต้องแสดงเหตุผลเวลาตอบด้วย”
แม้ว่าชัยชนะจากการสำรวจพบว่าจีนประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แต่ในจีนเอง ผลสำรวจนี้กลับไม่ส่งผลกระเพื่อมสังคมเท่าใดนัก
ติง กล่าวต่อว่า “ผลสำรวจฯ ได้ชี้วัดว่า การทุ่มเทปฏิรูปการศึกษาและการลงทุนพัฒนาโรงเรียนของจีนนั้นออกดอกออกผลแล้ว” โดยก่อนหน้านั้นทางการจีนแถลงว่า งบฯ การใช้จ่ายด้านการศึกษาจะเพิ่มจากที่ธนาคารโลกประมาณไว้ที่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในปี 2544 ไปสู่ 4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2554
ติงกล่าวว่า เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา หลักสูตรของโรงเรียนของเธอ (จิ้งอาน) มีวิวัฒนาการไปไกลกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาจีน และวิทยาศาสตร์ โดยปรับไปเน้นการเขียน การสร้างหุ่นยนต์ และการออกแบบหน้าเว็บไซต์ เป็นต้น และนอกจากนั้นยังมุ่งสู่โครงงานวิจัยอิสระอีกด้วย
เธอกล่าวเสริมว่า ในประเทศจีนนั้น เพียงทำข้อสอบแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายในช่วงมัธยมและมหาวิทยาลัยให้ได้คะแนนสูง ๆ ก็จะสามารถเปิดประตูไปสู่โอกาสการศึกษาในสถาบันชั้นนำได้
“แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง เมื่อคนที่ได้คะแนนสูงสุด 1,000 คนแรกจากปี 2520 จนถึงปี 2551 พอเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว กลับไม่โดดเด่นในเชิงวิชาการ ทั้งด้านบริหารธุรกิจ หรือรัฐศาสตร์ ฯลฯ” ไชน่า เดลี่ เผยเมื่อ มิ.ย. 2553
แม้จีนจะมีประชากรถึง 1,300 ล้านคน แต่กลับมีคนที่ได้รางวัลโนเบลด้านศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เพียงหยิบมือเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจฯ ไม่สามารถเป็นตัวแทนโรงเรียนในจีนทั้งหมดได้ เมื่อย้อนไปดูโรงเรียนในแผ่นดินใหญ่ตอนในที่ห่างไกลและกันดารแล้ว ครูดี ๆ ก็แทบจะหาไม่ได้ ลองมาเทียบกับโรงเรียนจิ้งอาน ที่มีทั้งห้องทดลองหุ่นยนต์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์แอปเปิลใหม่ 40 เครื่อง ห้องศึกษาภูมิศาสตร์แผนที่ 3 ดี แถมยังมีสถานีชี้วัดสภาพอากาศอีก ก็ยิ่งเทียบไม่ติด
อย่างไรก็ตาม ติงชี้ว่า “อุปกรณ์เพื่อการศึกษาใหม่ ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เราข้ามพ้นการเรียนแบบท่องจำไปได้” เธอทิ้งท้ายว่า “ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างจะจบลง แม้ว่าจะยกเลิกระบบการสอบแบบเก่าก็ตาม”