xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เผยประเมิน PISA พบ “กวดวิชา” ไม่ส่งผลเชิงบวกต่อผลสัมฤทธิ์การเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน
สพฐ.เผยผลประเมิน PISA พบ ร.ร.ขยายโอกาสต้องเร่งพัฒนาเป็นพิเศษ เด็ก ร.ร.ขนาดเล็ก ใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันน้อย ขาดครูวิทย์ คณิต ภาษาเพิ่ม ระบุ กวดวิชา ไม่ส่งผลเชิงบวกต่อผลสัมฤทธิ์การเรียน

วานนี้ (10 ก.พ.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมสพฐ.มอบหมายให้สำนักทดสอบทางการศึกษา ของ สพฐ. ประสานงานกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อวิเคราะห์ผลการประเมินโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ 2009 หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอในการประชุม สพฐ.สัญจรในระหว่างวันที่ 16 - 17 ก.พ.นี้ เบื้องต้นผลการประเมิน Pisa ดำเนินการมาทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543, 2546, 2549 และ 2552 ซึ่งมีพัฒนาการที่สูงขึ้น แต่จากการวิเคราะห์แล้วผลคะแนนที่สูงขึ้นเล็กน้อยนั้น ไม่มีนัยยะทางสถิติ ซึ่งสรุปได้ว่าสถานะของ Pisa ใกล้เคียงปี 49 แม้ว่าจะดีขึ้นเล็กน้อยก็ตาม แต่จากการที่ สพฐ.เข้าร่วมในโครงการนี้ ทำให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินจาก Pisa ระบุว่านักเรียนกลุ่มต่ำยังได้รับการดูแลไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้มีนัยยะที่เกี่ยวข้อง และเมื่อเชื่อมโยงไปกับข้อมูลระดับโรงเรียนแล้ว พบว่ามาจากโรงเรียนขยายโอกาส เป็นกลุ่มล่างที่ต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาเป็นพิเศษ ในด้านวิชาคณิตศาสตร์พบว่าโรงเรียนขนาดเล็ก การเรียนการสอนคณิตศาสตร์นักเรียนยังไม่ได้แสดงศักยภาพว่าจะสามารถนำวิชาดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ทั้งเรื่องส่วนตัว และการศึกษาต่อ การใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ยังไม่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพ มีข้อยืนยันว่าครูคือปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่สำคัญสุด และพบว่าการขาดแคลนครูที่มีคุณวุฒิตรงมีเพิ่มขึ้น 3 วิชา คือ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์

“นอกจากนี้ ยังพบว่า หากเปรียบเทียบระหว่างทรัพยากรการเรียนรู้กับอุปกรณ์ไอซีที พบว่าอุปกรณ์การเรียนรู้ที่เป็นการทดลองได้รับการลงทุนลดลง ขณะที่ไอซีทีเพิ่มขึ้น พอมาเชื่อมโยงกับการใช้ไอซีทีก็มีผลที่ไม่น่าพอใจเพราะนักเรียนใช้ไอซีทีมากแต่กลับมีคะแนนต่ำ โดยไทยต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนให้สมดุลและเพียงพอกับไอซีที อีกส่วนคือการเตรียมความพร้อมในระดับอนุบาล ที่ส่งผลต่อการเรียนในระดับขั้นพื้นฐาน นักเรียนที่ได้เรียนตั้งแต่อนุบาลจะมีผลประเมินสูงกว่านักเรียนที่ไม่เคยเรียนอนุบาล และที่น่าสนใจคือการกวดวิชา ไม่ส่งผลเชิงบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น