กรมอนามัย ชู จังหวัดไอโอดีนเด่น รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ โคราชอันดับ 1 ในการขับเคลื่อน ส่วนเพชรบุรี อันดับ 1 ด้านสื่อสารสร้างสรรค์ เตรียมรุกหนักให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน 76,000 แห่งทั่วประเทศ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม-ราชกุมารี ให้กับจังหวัดที่มีผลงานเด่นด้านการขับเคลื่อนชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน พร้อมตั้งเป้าให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน 76,000 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (24 มิ.ย.) ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ ณ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ว่า กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ได้กำหนดแนวทางควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติตั้งเป้า 76,000 ชุมชน/หมู่บ้าน ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การผลิตและกระจายเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ โดยมีการบริหารจัดการที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน 2) การจัดทำระบบการเฝ้าระวัง ติดตามและประเมินผลโครงการ 3) การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พันธมิตร และภาคีเครือข่ายเพื่อการมีส่วนร่วม 4) การประชาสัมพันธ์ รณรงค์และการตลาดเชิงสังคม เพื่อการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง 5) การศึกษาวิจัย และ 6) การใช้มาตรการเสริมในระยะเฉพาะหน้า และมาตรการเสริมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมืออย่างดีจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้มีชุมชน/หมู่บ้านที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนแล้วจำนวน 21,871 จากจำนวนชุมชน/หมู่บ้านที่เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาจำนวนทั้งสิ้น 56,584 แห่ง ใน 49 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 38.7
ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า ผลจากการดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนครั้งนี้ มี 3 จังหวัด ที่สร้างผลงานเด่นจนได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 จังหวัดที่มีชุมชน/หมู่บ้าน ที่เข้าร่วมกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ทำผลงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ประเภทที่ 2 จังหวัดที่มีความครอบคลุมของครัวเรือนในการใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนคุณภาพมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดพังงา ร้อยละ 99.80 และประเภทที่ 3 จังหวัดที่มีรูปแบบการสื่อสารเรื่องไอโอดีนอย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี
“ทั้งนี้ กรมอนามัยจะเร่งดำเนินการชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนให้ครบ 76,000 ทั่วประเทศ เพราะโรคขาดสารไอโอดีนถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการหลักในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ภายใต้นโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า (Universal Salt Iodization : USI) โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เสริมไอโอดีนในเครื่องปรุง 4 ประเภท ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรส นอกจากนี้กรมอนามัยยังได้จ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีนให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตลอดการตั้งครรภ์ และเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มพื้นที่ถิ่นทุรกันดารตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งแต่งตั้ง อสม. จำนวน 1 ล้านคน เป็นทูตไอโอดีนดำเนินงานร่วมกับประชาชนดูแลพื้นที่ของตนเองให้มีการผลิต จำหน่ายและใช้เกลือเสริมไอโอดีนและเครื่องปรุงรสเสริมไอโอดีนคุณภาพทุกครั้งที่ปรุงและประกอบอาหาร พร้อมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมไอโอดีน เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด